วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม ตอนที่สาม (หน้า 20-30)

 (คลิกเพื่ออ่านตอนที่ 1)

[จากหนังสือ 'การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม' พิมพ์โดย ธรรมสภา เมื่อ 2539
บรรยายโดย 'พระพรหมคุณาภรณ์' เมื่อ 29 ม.ค.2533]


ระหว่างการใช้ภาษาเป็นสื่อ
กับการมุ่งสู่ประสบการณ์ตรง : จับจุดพลาดให้ถูก


          เอาละ...เพราะปัญหาเกี่ยวกับภาษามีมากมายในแง่ต่างๆ เช่นว่า ภาษามีขอบเขตจำกัดในการแสดงความจริงบ้าง บางทีกลายเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงบ้าง เป็นต้น ก็เลยมีการพยายามที่จะแสดงความจริงให้คนเข้าถึงสัจธรรมโดยตรง ไม่ให้ต้องผ่านภาษา


          คนที่พยายามไม่ใช้ภาษาโดยจะสื่อให้ถึงสัจธรรมโดยตรง ทำได้หรือไม่ ไม่ต้องใช้ภาษา เอ! พูดมาตั้งแต่ต้นว่า ต้องใช้ภาษาจึงพูดกันรู้เรื่อง ก็เท่ากับบอกอยู่แล้วว่า ถ้าไม่ใช้ภาษาก็พูดกันไม่ได้ แล้วถ้าไม่ใช้ภาษาจะสื่อสัจธรรมโดยตรงได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา หรืออาจจะมีคำพูดเพิ่มเติมมาว่า สื่อให้เข้าถึงความจริงโดยไม่ผ่านภาษา หากใช้ภาษาก็ใช้ให้น้อยที่สุด


          อันนี้อาตมาจะยกตัวอย่าง ท่านทั้งหลายคงรู้จักซามูไร ซามูไรเป็นนักรบญี่ปุ่นใช้ดาบ แล้วหลายคนก็คงเคยได้ยินคำว่า 'นิกายเซน'   นิกายเซนก็เป็นพุทธศาสนานิกายหนึ่งที่นับถือกันมากในญี่ปุ่น เป็นนิกายที่เน้นสมาธิ มีอาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงหลายท่าน


          วันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์เซนท่านหนึ่งนั่งอยู่ในกระท่อมที่ในป่า ซามูไรผู้หนึ่งคิดถึงพระอาจารย์ มีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องธรรมะเกี่ยวกับความเข้าใจในโลกและชีวิต ก็อยากจะถามความจริงจากพระอาจารย์เซนท่านนี้ พอดีอากาศหนาวจัดเหลือเกิน หิมะก็ตก ความอยากรู้ทำให้บุกป่าฝ่าไปท่ามกลางความหนาวเย็น ท่ามกลางหิมะนี้ แกก็ไปจนกระทั่งถึงกระท่อมของอาจารย์เซน พอไปถึงแล้วแกก็ตัวสั่นงั่กๆ อยู่  แล้วแกก็เคาะประตู พระอาจารย์เซนนั้นได้ยินคนเคาะประตู ก็เลยมาเปิดประตู พอเปิดประตูออกไปก็พบซามูไรกำลังหนาวตัวสั่นอยู่ อ้าว! ยังไม่ทันเชิญเข้ามาข้างใน ก็ถามว่ามายังไง ต้องการอะไร ซามูไรกำลังอยากรู้ความจริงก็พูดออกไป


          "อยากจะถามท่านว่า นรกคืออย่างไร อยากจะรู้จักนรกว่าเป็นอย่างไร"


          พระอาจารย์พอได้ยินอย่างนั้นก็ดึงประตูปิดปัง พอดึงประตูปิดปัง ซามูไรนี้แกก็โกรธ เอ! เรานี่ต้องการจะมาถามธรรมะหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต แต่อาจารย์นี่ไม่ต้อนรับเลย กลับปิดประูตูอย่างนี้แสดงความไม่พอใจ แกก็โกรธเลย พอโกรธขึ้นมา ยังไม่ทันคิดว่าจะทำอย่างไรดี กำลังโกรธอยู่ พระอาจารย์ก็เปิดประตูออกมา แกก็ต่อว่าทำไมอาจารย์ทำอย่างนี้เล่า ผมถามหาความรู้ อาจารย์ไม่น่าจะทำกับผมอย่างนี้ ปิดประตูใส่ผมได้หรือ ไม่มีมารยาทเลย


          อาจารย์ก็บอกว่า "นั่นแหละนรกละ"


          พอบอกว่านั้นแหละนรกละ ซามูไรคนนี้เป็นคนมีปัญญาก็เข้าใจ นึกขึ้นได้เลย อ๋อ! สภาพจิตของเราขณะนี้ที่มันโกรธอย่างนี้นี่แหละคือนรก พอเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็รู้ว่าพระอาจารย์ได้สอนด้วยวิธีที่ว่าให้ใช้ประสบการณ์ตรงก็เลยก้มลงกราบ พอก้มลงกราบพระอาจารย์ก็บอกว่า "นี่แหละสวรรค์" เพราะตอนนั้นใจแกดีแล้ว แกมีความอิ่มเอิบใจ ก็เป็นอันว่า ซามูไรคนนี้ได้รับการสั่งสอนจากท่านอาจารย์ให้รู้จักนรก สวรรค์ โดยวิธีที่สั้นที่สุดนิดเดียว และแทบไม่ต้องใช้คำพูดเลย อันนี้เป็นวิธีที่เซนนิยมใช้ ซึ่งเป็นวิธีทำให้เข้าถึงความจริงโดยประสบการณ์ตรง


          นี่ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ว่า เราควรใช้ภาษาให้น้อยที่สุด โดยให้ผู้ที่เราจะสื่อกับเขานั้นเข้าถึง หรือสัมผัสตัวความจริง หรือสิ่งนั้นด้วยตัวเอง เหมือนอย่างที่บอกว่า ถ้าใครจะมาถามว่า รสหวานของมะม่วงเขียวเสวยเป็นอย่างไร แทนที่เราจะมานั่งบรรยายพูดให้ยืดยาว เราก็บอกโน่น มะม่วงเขียวเสวยอยู่นั่น คุณไปเอามีดมา แล้วเอามันไปปอกกิน ถ้าอย่างนี้ เขาก็ได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรง เขาก็รู้ทันทีว่ารสมะม่วงเขียวเสวยเป็นอย่างไร ไม่ต้องใช้ถ้อยคำบรรยาย และไม่ต้องใช้การคิดหาเหตุผลโดยวิธีตรรกะ


          อันนี้เป็นวิธีหนึ่งในการสื่อความจริง แต่มันก็เป็นเพียงวิธีหนึ่ง เพราะว่ามันไม่สามารถใช้ได้ทุกกรณี แต่เราจะต้องตระหนักไว้ในใจว่า มันเป็นวิธีที่ดีที่ควรจะได้เอามาเป็นแบบอย่าง หรือเป็นตัวอย่างในการที่จะมาสื่อความจริงกันด้วย เราจะได้มีทางออกหรือกลวิธีในการที่จะถ่ายทอดความจริงได้มากขึ้น หรือแม้จะใช้ภาษาก็เป็นการใช้ภาษาอย่่างมีประสิทธิภาพมาก เพราะไม่ใช่ว่าเขาไม่ใ้ช้ภาษา เขาใช้ภาษาถ่ายทอด อย่างอาจารย์เซนพูดกับซามูไร เขาต้องพูดคำว่านรก หรือคำว่าสวรรค์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่เป็นการใช้ภาษาที่มันโยงเข้าหาประสบการณ์โดยตรง หรือการใช้ให้สัมผัสกับสิ่งนั้น


          วิธีที่ใกล้เคียงกับวิธีปฏิบัติแบบนี้ก็ยังมีอีก เช่น ให้ดูการกระทำของเราเลย ดูที่การกระทำว่ามันเป็นความจริงอย่างไร เราก็ไม่ต้องมานั่งพูดอธิบายกัน


          วิธีต่อไปก็คือ ไม่ใช่ทำให้ดู แต่ให้เขาลงมือทำ เมื่อให้เขาลงมือทำสิ่งนั้นไปแล้ว ก็ทำให้เขามีโอกาสที่จะประสบ หรือได้สัมผัสประสบการณ์นั้นเอง


          วิธีที่ให้ลงมือทำในกรณีนี้ ไม่เหมือนกับวิธีของอาจารย์เซน ที่ว่า อาจารย์เซนนั้นให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์นั้นโดยตรง แต่วิธีนี้เป็นการทำเพื่อไปเจอสิ่งนั้นอีกที เช่น ถ้าต้องการที่จะรู้รสของสมาธิ ก็ให้ไปนั่งปฏิบัติ นั่งปฏิบัติไปจนกระทั่งถึงขั้นที่ได้รับผล แล้วไปเป็นประสบการณ์โดยตรงนั้นอีกทีหนึ่ง เหมือนกับจะไปให้ถึงที่หนึ่ง ก็เดินไปจนถึงที่นั้น อันเป็นวิธีที่สอง


          ต่อไปวิธีที่สาม คือ ให้ดูผลปฏิบัติ คือผลที่ออกมาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงสิ่งนั้น พิสูจน์ว่าสัจธรรมเป็นอย่างไร ก็ดูจากผลที่มันออกมา ผลออกมาอย่างนี้แสดงว่าตัวสิ่งนั้นก็จริงใช่ไหม ถ้าไม่จริงมันไม่ออกผลปฏิบัติอย่างนี้ได้ อันนี้ก็ดูที่ตรวจสอบพิสูจน์ด้วยผลที่ออกมาจากนั้น ก็เท่ากับผลปฏิบัตินี้เป็นตัวบ่งชี้สัจธรรมที่คนนั้นได้เข้าถึงแล้ว


          แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ ทุกอย่างที่เราพูดถึงนี้มันมีข้อดี แต่ก็ยังมีจุดอ่อนได้ ซึ่งเราก็จะต้องรู้ให้ครบถ้วน วิธีการเหล่านี้มีจุดอ่อน ยังไม่ปลอดภัย หรือแน่นอนที่จะเข้าถึงสัจธรรมอย่างไร


          อาตมาได้พูดไปทีหนึ่งแล้วว่า เรื่องประสบการณ์ตรงนั้น บางทีเราไปมองเห็นบางแง่บางส่วน แล้วสรุปเป็นภาพรวมของสิ่งนั้นก็ผิดพลาดไป นั่นก็ประการหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือ โยงประสบการณ์นั้นไปหาสัญญาที่ผิด โยงไปหา concept ที่ผิด เช่น กระต่ายตื่นตูม ที่ว่าได้ยินเ่สียงมะตูมหล่นลงบนใบตาล แล้วคิดว่าโลกแตก ก็เลยผิดพลาดไป


          นอกจากนั้นยังมีอะไรอีกบ้าง ก็คือ หนึ่ง ที่บอกว่าให้ดูโดยตรงจากการกระทำ การกระทำนั่นเองก็ยังหลอกกันได้ เช่น นักเล่นกล เป็นต้น ฉะนั้น จึงยังไม่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์ การเล่นกลยังมีอยู่ การกระทำโดยตรงก็เล่นกลได้


          ต่อไปประการที่สอง ในการที่เราวินิจฉัยประสบการณ์ตรงนั้น เราก็ต้องอาศัย concept หรืออาศัียประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วเหมือนกัน เช่น เราจะพูดคำว่าพระอรหันต์ เราบอกว่าเราจะพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตรง แต่เราก็ต้องมี concept เกี่ยวกับพระอรหันต์อยู่ก่อน ก่อนที่จะวินิจฉัยว่า เอ้อ! คนนี้เราคิดว่าเป็นพระอรหันต์ เรามี concept อยางไร เช่น เราไปเห็นท่านผู้หนึ่งมีลักษณะสงบเหลือเกิน มีความสงบเรียบร้อย ดูเหมือนคนที่ไม่มีกิเลสอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราคิดว่าท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ เพราะเรามี concept ว่าพระอรหันต์นั้นก็คือ บุคคลที่สงบ บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส แต่บางคนไม่มองอย่างนี้


          สมมติไปเห็นพระองค์หนึ่ง คนเชื่อถือกันนิยมกันว่าเป็นพระที่มีฤทธิ์ทำอะไรต่ออะไรได้แปลกประหลาดอัศจรรย์ นึกถึงความมีฤทธิ์แล้วก็นึกว่าพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ ในกรณีนี้ก็คือเขามี concept ของพระอรหันต์ว่าเป็นผู้ที่มีฤทธิ์ ก็เลยทำให้เขาเข้าใจว่าผู้มีฤทธิ์นั้นเป็นพระอรหันต์ หรือบางคนเคยมี concept ในพระอรหันต์ว่า คือคนที่เฉยเหมือนกับไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ว่าอะไร เฉยหมด พอไปเห็นพระหรือใครที่มีลักษณะเฉยอย่างนี้ ก็เลยนึกว่าผู้นี้เป็นพระอรหันต์


          การวินิจฉัยของเขานั้น แม้แต่เอาจากประสบการณ์ตรง คือมองเห็นบุคคลผู้นั้นเป็นอยู่อย่างนี้แสดงอาการและมีพฤติกรรมอย่างนี้ แต่เขาต้องเชื่อมโยงกับตัว concept ที่มีอยู่ ฉะนั้น ถ้าหากว่า concept นั้นไม่สมบูรณ์ ผิดพลาด การวินิจฉัยนั้นก็ผิดไปด้วย เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ในที่นี้ก็ไม่สามารถจะให้ความหมายได้โดยสมบูรณ์ เพราะเป็นการสรุปตีคลุมออกไปจาก concept ที่ไม่เด็ดขาด ก็ผิดพลาดได้


          ต่อไป การวินิจฉัยที่่ว่าเมื่อครู่นี้ ก็ยังต้องอาศัยตัวกำหนดอีกอย่างหนึ่ง คือความรู้แจ้งจริงหรือความรู้แท้ของตัวบุีคคลนั้นเอง ตัวเขาเองแม้จะไ้ด้ประสบการณ์บางอย่างก็อาจจะมีการวินิจฉัยผิด ยกตัวอย่างเช่น มีพระเถระองค์หนึ่งเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว เป็นพระอาจารย์ใหญ่ที่สอนความรู้ทางพุทธศาสนา สอนการปฏิบัติที่เรียกว่าวิปัสสนาแก่ลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก มีคนนับถือมากมาย แล้วลูกศิษย์บางคนได้เป็นพระอรหันต์ อาจารย์ก็สำคัญตนเองว่าฉันเป็นพระอรหันต์ ท่านได้ฌาน ได้สมาบัติ แล้วในใจตัวเองก็สงบ ไม่รู้สึกว่ามีกิเลส มีความสุข ไม่มีความทุกข์อะไรเลย ท่านก็นึกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วมีลูกศิษย์คนหนึ่งที่เป็นพระอรหันต์ซึ่งเหนือกว่า คนที่เหนือกว่าจึงจะรู้คนที่ต่ำกว่า ลูกศิษย์คนนี้เป็นพระอรหันต์รู้ว่าพระอาจารย์นี้ยังไม่ถึงขั้น ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เลยหาวิธีที่จะให้อาจารย์รู้สึกตัว


          วันหนึ่ง ได้โอกาส ก็ทำให้พระอาจารย์ได้รู้สึกตัว โดยการที่ให้อาจารย์ได้เห็นช้างตัวใหญ่เข้ามาโดยฉับพลันทันทีชนิดตั้งตัวไม่ติด ความที่ว่าไม่มีโอกาสที่จะตั้งสติ ทำให้ตกใจ พอตกใจก็ลุกขึ้นเตรียมจะวิ่งหนี พอจะวิ่งหนี ลูกศิษย์ก็กระตุกจีวรไว้ บอกพระอาจารย์ทำไมจะวิ่งซะแล้ว อาจารย์ได้ยินปั๊บก็ได้สติ แล้วก็รู้ตัวทันทีว่า โอ้! นี่เราผิดพลาดไป เรายังตกใจ พระอรหันต์จะไม่เป็นอย่างนี้ ก็เป็นอันรู้ตัวว่า เอ้อ! เรานี้ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์


          โดยนัยนี้ การมีประสบการณ์ตรงบางทียังหลอกตัวเองได้ เพราะเป็นวินิจฉัยที่เกิดจากความรู้ที่ไม่ถ่องแท้เพียงพอ ฉะนั้น จึงมีหลายขั้นเหลือเกินที่จะวินิจฉัย ในการที่จะเข้าถึงความจริง


          นอกจากนี้แล้ว ต่อไปอีก ลึกซึ้งลงไป ซึ่งเป็นมูลเหตุของความผิดพลาด ก็คือตัวสภาพอวิชชาที่อยู่ในตัวคนนั้นเองเป็นฐานของความผิด ในการที่จะนำมาสู่การสื่อภาษาผิดพลาดด้วยการวินิจฉัย concept อะไรต่างๆ ผิดพลาด สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการใช้ภาษาเป็นสื่อ ก็คืออวิชชาในตัวคน


          อวิชชาในตัวคนนี้คืออะไร คือการไม่รู้จักวิเคราะห์ของตนเอง ตนเองไม่รู้จักวิเคราะห์ความจริง ก็ทำให้ไปมองเพียงแง่หนึ่งด้านหนึ่งของเรื่องนั้นๆ หรือมองสิ่งนั้นๆ ผิวเผิน แล้วก็ตีคลุมไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของการไม่รู้จักวิเคราะห์


          เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องฝึกหัด ก็คือความคิดของคนที่ว่าจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ในการที่จะเข้าถึงความจริง นิสัยของจิตใจในการที่จะวิเคราะห์สิ่งต่างๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปลูกฝัง มิฉะนั้น คนเราจะถูกชักพาให้หลงไปโดยประสบการณ์ หรือข้อมูลที่เข้ามาได้ง่าย เราได้ประสบการณ์ เราไม่วิเคราะห์แ้ล้วเราก็หลงผิด ได้ข้อมูลมาไม่วิเคราะห์ ไม่สืบค้น ก็หลงผิดได้


          บางทีก็เกิดจากความหลงยึดติดของตัวเอง เช่น หลงยึดติดในบางอย่าง ในส่วนดีของสิ่งนั้น พอเราึยึดในส่วนดีของสิ่งนั้นแล้ว เราจะมองข้ามส่วนที่ผิดพลาดไป แล้วก็ตีคลุมเอาส่วนดีนั้นเป็นภาพรวมของสิ่งนั้น ก็เลยกลายเป็นว่าเราผิดพลาดไป หรือสิ่งร้ายก็เหมือนกัน มองเห็นสิ่งร้ายส่วนหนึ่ง แล้วก็ตีคลุมเป็นสิ่งนั้นร้ายไปหมด


          ในขั้นสุดท้ายก็คือ ความงมงายลึกๆ ที่อยู่ในพื้นใจซึ่งยังไม่ได้แก้ไข ความงมงายนี้แสดงออกแม้แต่ในสิ่งที่เรียกว่า 'วิทยาศาสตร์'  วิทยาศาสตร์นี้เป็นวิชาการที่เราบอกว่ามีความไม่งมงาย แล้วก็ให้มีทัศนคติที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อสิ่งต่างๆ แต่ปรากฏว่า บางทีคนเราไม่ใช้วิธีวิทยาศาสตร์กับสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ การไม่ใช้วิธีวิทยาศาสตร์กับสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์นี้จึงได้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา


          เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้คนเริ่มรู้สึกตัว โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการบางกลุ่ม เรื่องนี้เป็นความเจริญทางวิชาการอีกระดับหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาของโลกที่เกิดจาการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นต้น ที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเสีย ธรรมชาติเป็นพิษเป็นภัยในปัจจุบันนี้ เมื่อประสบปัญหาแล้ว เขาก็สืบหา สาเหตุอย่างหนึ่งก็คือความงมงายในวิทยาศาสตร์ได้สร้างปัญหานี้ขึ้น ทำไม


งมงายในวิทยาศาสตร์ย่อมไม่บรรลุถึงวิทยาศาสตร์
       
           ในยุคที่ผ่านมา คนคิดว่าวิทยาศาสตร์จะทำให้เราทำอะไรได้ทุกอย่าง เอาชนะธรรมชาติได้ มีความเป็นอยู่สุขสมบูรณ์ สร้างสวรรค์ขึ้นมาบนดิน แต่นั่นเป็นเพียงความหลงใหลหรืองมงายในวิทยาศาสตร์ เวลานี้คนก็ตื่นรู้ตามฟังมากขึ้นว่าพิษภัยมากมายเกิดแก่มนุษย์จากวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะผ่านทางเทคโนโลยี นี่ก็แง่หนึ่ง


          อีกแง่หนึ่ง วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความไม่งมงาย แต่ปรากฏว่าคนมีความงมงายในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคนทั่วไปจำนวนมากจะมีความงมงายในวิทยาศาสตร์มาก โดยหลงเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์สามารถให้หรือตอบความจริงเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ นี้เป็นอีกข้อหนึ่งของความผิดพลาด


          ปัจจุบันนี้คนรู้สึกตัวกันมากขึ้นว่า สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับความจริงทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์นี้หลายอย่างที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้ จึงไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริง อันนี้เป็นแง่ที่หนึ่งที่ว่าวิทยาศาสตร์เองมีขอบเขตจำกัด ถ้าใครไปยึดว่าวิทยาศาสตร์จะให้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างได้ คนนั้นเราเรียกว่ามี scientism คือความหลงยึดติดในวิทยาศาสตร์ หรือความงมงายในวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง


           อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่คนทั่วไปที่เป็นชาวบ้าน พอเขาบอกว่าวิทยาศาสตร์ว่าอย่างนี้ นักวิทยาศาสตร์ว่าอย่างนี้ ก็ไม่เคยวิเคราะห์วิจัย เอาแต่เพียงว่าวิทยาศาสตร์บอก ก็เชื่อไปเลย อันนนี้ก็นำไปสู่ความเข้าใจผิดมาก เพราะวิทยาศาสตร์นั้นมีความเจริญก้าวหน้าเป็นขั้นตอน มีการค้นคว้าหาความจริงและพิสูจน์กันเรื่อยไป เมื่อพิสูจน์หาความจริงไปได้แค่นี้ เราก็บอกว่า เดี๋ยวนี้ค้นได้แค่นี้ แต่คนจำนวนมากจะคิดว่าความรู้ที่วิทยาศาสตร์บอกไว้คือความจริงที่สมบูรณ์ ต่อมาปรากฏว่าวิทยาศาสตร์เจริญก้า่วหน้าไปอีก ก็ค้นได้ว่าสิ่งที่เคยคิดว่าจริงนั้นไม่จริง วิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงความรู้ความเข้าใจไปเรื่อยๆ


          ปัจจุบันนี้เราได้เห็นกันมากมายว่า สิ่งที่สมัยหนึ่งเข้าใจว่าเป็นความจริง แล้วต่อมาก็รู้ว่ามันไม่จริงอย่างนั้น แต่คนส่วนมากหาได้มีท่าทีวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์ไม่ พอบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ว่า ก็เชื่อทันที จึงเป็นความหลงงมงายอย่างหนึ่ง ที่แท้ก็คือการที่จิตใจของคนนั้นยังมีความหลงงมงายอยู่ในตัวนั่นเอง


          เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเขาจะมาอยู่ในยุควิทยาศาสตร์ หรือมีวิทยาการในด้านวิทยาศาสตร์อย่างไร เขาก็ไปไม่พ้นจากสภาพนี้ สิ่งที่จะต้องแก้ที่แท้จริงก็คือในพื้นจิตใจของเขา ที่จะต้องสร้างทัศนคติที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงขึ้นมา แล้วก็ไม่หลงงมงาย แม้แต่ในวิทยาศาสตร์นั้น


          อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องความตื่นเต้นในภาษา เรื่องภาษาก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งในการเข้าถึงสัจธรรม หรือการสื่อสัจธรรม อันนี้คือความตื่นเต้นในรสภาษา บางทีเราตื่นเต้นในรสภาษาจนกระทั่งเกิดความรู้สึกอัศจรรย์ นึกว่า โอ้! สิ่งนี้จะต้องเป็นจริง แต่ความจริงนั้นเป็นความตื่นเต้นเท่านั้นเอง เหมือนอย่างการอ้างคำคมต่างๆ คำคมต่างๆ นั้นมีโอกาสทำให้คนหลงมากว่าอันนี้เป็นความจริง เพราะมันไปตื่นเต้นกับรสของภาษานั้น แม้แต่คำว่า จงอย่างมองนิ้วที่ชี้ดวงจันทร์นะ มองดวงจันทร์เถอะ บางคนก็ไปหลงคำคมที่คนยกมาอ้า่ง แล้วก็นึกว่า คนนี้เก่งต้องพูดจริงแน่ๆ  แต่ที่แท้ไม่ได้วิเคราะห์เขาเลยว่าพูดจริง หรือเีพียงแต่เอาคำคมนั้นมาใช้อ้าง ความตื่นเต้นในรสภาษาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทัน ไม่ให้ความตื่นเต้นในรสของภาษานำพาชักจูงตนเองให้ไขว้เขวไป          

3 ความคิดเห็น:

  1. เจอทีเดียว 3 ตอน เลยขอแปะไว้ก่อน อิอิ
    มาชวนไปเที่ยวลานธรรมใหม่ หน้าตาสวยดี แต่ตอนนี้รู้สึกว่าพวกที่ใช้ชื่อเป็นภาษาไทยจะยังล็อกอินไม่ได้เป็นส่วนใหญ่นะ เลยได้แต่สำรวจไปก่อน อิอิ
    http://larndham.org/

    ตอบลบ
  2. เข้าได้แล้วละ มี shoutbox ให้เล่นด้วย แต่สมาชิกทั่วไปยังเล่นไม่ได้ ได้แต่สมาชิกถาวร

    ตอบลบ
  3. ลานธรรมใหม่หน้าตาเรียบหรูดูเจ๋งแฮะ
    อยากมีไอเดียแบบนั้นได้มั่งจัง ...

    ตอบลบ