วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม ตอนที่สอง (หน้า 8-19)

 (คลิกเพื่ออ่านตอนที่ 1)

[คัดลอกจากหนังสือ 'การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม' พิมพ์โดย ธรรมสภา เมื่อ 2539
บรรยายโดย 'พระพรหมคุณาภรณ์' เมื่อ 29 ม.ค.2533]



เบื้องหลังความผิดพลาดและความบกพร่อง
ในการสื่อภาษาและใช้ภาษาเป็นสื่อ


         นอกจากขอบเขตการสื่อสารที่ไม่สามารถให้ความรู้ได้โดยสมบูรณ์แล้ว แม้แต่ในกรณีที่มีประสบการณ์ตรงแล้ว ก็ยังมีทางผิดได้อีก เมื่อกี้นี้บอกว่า ในการที่จะเข้าถึงความจริงนั้นต้องมีประสบการณ์ตรง ซึ่งภาษาไม่สามารถสื่อได้เต็มที่ ทีนี้ พอถึงตัวประสบการณ์ตรงก็ยังมีปัญหาอีก



         ประสบการณ์ตรงอาจจะได้เป็นเพียงบางแง่บางส่วนของความจริงนั้น แล้วมีการสรุปที่ผิดพลาด โดยเอาบางแง่บางส่วนของความจริงหรือสภาพของสิ่งนั้นมาสรุปเป็นภาพรวมของสิ่ง นั้นหมด แล้วก็เลยเกิดความผิดพลาดขึ้น


          ยกตัวอย่างเช่นว่า ในสมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงเล่าเรื่องว่า มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งเป็นคนมีอารมณ์ขัน วันหนึ่ง ก็ให้พวกเสนาข้าอำมาตย์ไปเอาตัวคนตาบอดแต่กำเนิดมาประมาณสัก 50 คน คนตาบอดแต่กำเนิดนี้ย่อมไม่เคยได้เห็นสีเขียว สีแดง รูปร่างสัตว์ต่างๆ อะไรต่างๆ


          จากนั้นพระราชาองค์นี้ก็ให้เอาช้างตัว หนึ่งมา แล้วก็ให้คนตาบอดแต่กำเนิดเหล่านี้คลำ ให้คลำกันอยู่จนพอละ แต่ไม่ได้คลำทั่วตัว เอาขาให้คนนี้คลำ แล้วก็เอาหูช้างให้อีกคนหนึ่งคลำ เอางาช้างให้อีกคนหนึ่งคลำ คลำกันไปพอสมควรแล้ว พระราชาก็ถามว่า

          “เป็นไง...ช้างเป็นยังไง รูปร่างยังไง”

          ปรากฏ ว่าคนตาบอดให้คำตอบต่างๆกัน คนที่คลำปลายหางช้างก็บอกว่าช้างรูปร่างเหมือนไม้กวาด คนที่คลำขาช้างก็บอกว่าช้างนั้นเหมือนเสา คนที่คลำหูช้างบอกว่าช้างนั้นรูปร่างเหมือนกระด้ง ก็ว่ากันต่างๆนานา ว่ากันมากมาย ทีนี้ พอว่าไม่ตรงกัน พวกคนตาบอดเหล่านี้ก็เถียงกัน เพราะว่าตัวเองได้สัมผัสจับมาเอง ก็ต้องเชื่อว่า ฉันได้เห็นความจริงแล้ว คนคลำขาช้างก็ว่าช้างต้องรูปร่างอย่างเสา คนที่คลำปลายหางช้างก็ว่าช้างต้องรูปร่างเหมือนไม้กวาด มันไม่มีทางเป็นเสาไปได้ คนที่คลำหูช้างก็ว่ามันไม่มีทางเหมือนเสาหรอก มันต้องเหมือนกระด้ง ก็เถียงกันอยู่อย่างนี้จนจะชกต่อยกัน พระราชาก็เลยสนุกสนานหัวเราะชอบใจเอิ้กอ้ากไปเลย


          อันนี้ก็ สรุปได้ว่า คนเราบางทีแม้มีประสบการณ์ตรงก็ยังมีความผิดพลาด คือการที่จับเอาแต่บางแง่บางด้าน แล้วก็สรุปเป็นผลรวมของสิ่งนั้น นี่ก็แง่หนึ่ง


          ทีนี้ ต่อไปประสบการณ์ตรงอาจจะมีความผิดพลาดได้อีกอย่างไร ยกตัวอย่าง ในกรณีนี้เป็นเรื่องกระต่ายตื่นตูม เข้าใจว่าในที่ประชุมนี้คงเคยได้ยินคำพูดว่า 'กระต่ายตื่นตูม'


          มีเรื่องเล่าว่า...ที่ป่าแห่งหนึ่งมี ต้นไม้หลายชนิดขึ้นกันอยู่อย่างหนาแน่น ทีนี้ ก็มีใบตาลแห้งๆ มาตกอยู่ใต้ต้นมะตูม เจ้ากระต่ายตัวหนึ่งก็ไปนอนที่ใต้ใบตาลภายใต้ต้นมะตูมนั้น นอนหลับสนิทฝันสบายเชียว ปรากฏว่าพอดีผลมะตูมลูกหนึ่งมันหล่นลงมา ทีนี้ ลูกมะตูมหล่นลงบนใบตาลแห้งๆ นี่เสียงมันดังมาก แล้วเจ้ากระต่ายนอนอยู่ใต้นั้น หูมันติดกับใบตาล แล้วมันกำลังฝันอยู่ ก็ทำให้เกิดจินตนาการขึ้น แล้วเสียงก็ดังอย่างมาก จึงได้ยินเสียงมะตูมหล่นดังสนั่นหวั่นไหว มันตื่นขึ้นด้วยความตกใจ ก็คิดฝันเอาว่า โอ้โห! นี่โลกแตกแล้ว ก็กระโดดโจนพรวดพราด ไม่ได้ตรวจสอบดูให้ดีว่ามันคืออะไร ก็วิ่งหนีเต็มที่ แล้วก็ตะโกนไปด้วยว่า

          “โลกแตกแล้ว! โลกแตกแล้ว!”

          เจ้าสัตว์อื่นหลายตัวพอได้ยินอย่างนี้ เห็นเจ้ากระต่ายวิ่งมาด้วยความรีบร้อนตกใจ ก็ตกใจบ้าง ไม่ได้ทันตรวจสอบอะไร ก็เอาบ้าง วิ่งตามกันไป วิ่งอย่างนี้ วิ่งอย่างนี้ จนกระทั่งกลายเป็นว่าแถวขบวนสัตว์ที่วิ่งหนีภัยโลกแตกนี้ยาวเป็นกิโลเลย


          จนกระทั่งไปเจอราชสีห์เข้า ราชสีห์ก็ห้ามว่า “หยุดก่อน! หยุดก่อน!”


          พวก สัตว์ทั้งหลายนี้ไม่ยอมหยุด เพราะตกใจมาก ราชสีห์ต้องคำราม ฮึ่ม! ขึ้นมา พอราชสีห์คำรามขึ้นมา สัตว์ทั้งหลายก็ตกใจกลัว ตัวกำลังตกใจต้องเจอความตกใจใหม่ พอเจอความตกใจใหม่มันก็เลยหยุด ปรากฏว่าขบวนสัตว์ที่ตื่นตกใจวิ่งกันมาอย่างรวดเร็วนั้นก็หยุดเป็นแถวยาวยืด พอหยุดเสร็จแล้ว ราชสีห์ก็ถามว่า

          “เอ้อ! พวกเจ้านี่เป็นยังไง วิ่งหนีอะไรกันมา”

          สัตว์พวกนั้นมันก็ตะโกนอยู่แล้วว่าโลกแตก ทุกตัวที่เข้าขบวนก็ตะโกนว่า “โลกแตก! โลกแตก!”

          ราชสีห์ก็ถามว่า “มันเป็นยังไงที่ว่าโลกแตก ใครเป็นคนเห็น”

          กวางก็บอกว่า “โน่น! เจ้าลิงเห็น”

          ลิงบอก “ไม่ใช่ ฉันไม่ได้เห็น”  บอกอีเก้งเห็น เก้งก็บอกว่าควายเห็น ควายบอกหมูป่าเห็น ว่าซัดทอดกันเรื่อยไป

          นี่ คือลักษณะของการตื่นตูม พอเอาเข้าจริง พอสอบสวนก็หาตัวไม่ได้ ราชสีห์ก็เลยต้องใช้วิธีสอบสืบเรื่อยไป เจ้านี่ได้ยินจากไหนต่อๆไป จนกระทั่งในที่สุดก็ได้ความว่า กระต่ายนี่เองเป็นตัวต้นเหตุ


          พอมาเจอกระต่าย ราชสีห์ก็ถามว่า “แกบอกว่าโลกแตก...มันเป็นยังไง”

          “โอ้ย! โลกแตกสนั่นหวั่นไหวเลย”

          “แกได้ยินได้เห็นที่ไหน ตอนนั้นแกอยู่ที่ไหน เอ้า! พาข้าไปดู”

          นี่ เรียกว่านักสืบสวน ก็ต้องให้เห็นเหตุกันไปเลย เจ้ากระต่ายก็กลัว บอกว่า “ข้าไม่กล้าไปหรอก โลกมันจะแตกอยู่แล้วจะไปยังไงล่ะ”

          ราชสีห์บอกว่า “เออน่า ข้าเป็นประกัน แกไม่กล้าไป แกขี่หลังข้าไปได้”

          เป็น อันว่าราชสีห์ก็เลยให้กระต่ายขี่หลังไป สัตว์อื่นเห็นว่าราชสีห์เป็นเจ้าป่ามีลักษณะกล้าหาญ ก็มีกำลังใจ จึงเดินตามกันไปจนกระทั่งไปเห็นลูกมะตูมตกอยู่บนใบตาล ราชสีห์ก็อนุมานคิดหาเหตุผลเรื่องราวไปว่า เจ้านี่มันนอนอยู่ตรงนี้ มันหลับ อะไรต่ออะไร พิจารณาไป ในที่สุด ก็ อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง ก็เลยได้ความ


          กระต่ายตื่นตูม คือ คนที่มีประสบการณ์ตรง แต่ไม่ได้สืบสวนเรื่องราวข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ ก็อาจจะมีความหลงผิด หรือได้ประสบการณ์ตรงซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ผิด ก็อาจจะทำให้เกิดความหลงผิดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น การได้ประสบการณ์ตรงก็ยังไม่เป็นหลักประกันที่แน่นอน


           นอกจากนั้น ความผิดพลาดนี้ยังอาจจะเกิดจากเจ้าตัวผู้รับรู้นั่นเอง ผู้ที่รับรู้สิ่งนั้น หรือผู้ที่กล่าวภาษานั้น กล่าวถ้อยคำนั้น ทำผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวเอง



           ความไม่รู้ตัวนี้มีสาเหตุมาจากกระบวนการรับรู้ของเขาไม่ได้ให้ความจริง กระบวนการรับรู้ของเรานี่อาจจเกิดความผิดพลาด ทำให้ไม่ได้ความจริง ไม่ได้สัจธรรม หมายความว่า กระบวนการรับรู้นี่หลอกตัวเราเอง มันหลอกตัวอย่างไร



            การรับรู้ของเราถูกย้อมสีด้วยความรู้สึกของเรา ความรู้สึกที่ชัดเจนมาก็คือ ความชอบ และความชัง



             คนเรานี้เมื่อมีประสบการณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมกับการรับประสบการณ์นั้น ก็จะมีความรู้สึกเกิดขึ้น คือสิ่งทั้งหลายที่เป็นประสบการณ์เข้ามาจะมีสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ซึ่งให้เกิดความสบาย และไม่สบาย




             ถ้าเกิดความสบายถูกใจ เราเป็นอย่างไร เราก็มีปฏิกิริยาคือชอบ ทางพระเรียกว่า 'ยินดี' ถ้าหากว่า มันให้ความไม่สบายไม่ถูกใจ เราก็ชังหรือเกลียด ทางพระเรียกว่า 'ยินร้าย'



             การรับรู้ของเราพอมีความยินดียินร้ายเข้ามาผสม เราจะมองภาพสิ่งนั้นไปตามความรู้สึกที่ยินดียินร้ายนั้น สิ่งนั้นจะไม่ใช่ภาพที่แท้จริงของมัน มันจะผสมด้วยการย้อมสีของความรู้สึกของเราที่ยินดียินร้ายนั้น



             เพราะฉะนั้น ในการรับรู้ในโลกที่เราบอกว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่เข้าถึงสัจธรรมนี้ ตัวเหตุอันหนึ่งเกิดจากตัวเราเอง ซึ่งก็คือการรับรู้ที่ไม่บริสุทธิ์ ที่ถูกย้อมสีด้วยความรู้สึกชอบชัง หรือยินดียินร้าย


              ทีนี้ ต่อจากกระบวนการรับรู้ คนเราจะถูกหลอกโดยกระบวนการคิด ตอนแรกกระบวนการความรับรู้ ต่อไปกระบวนการคิด กระบวนการคิดนี้โดยหมวดใหญ่คนเราจะคิดสองแบบ คิดอย่างหนึ่ง คือ การคิดโดยปัญญาบริสุทธิ์ คือ พยายามที่จะแยกแยะสิ่งที่กำลังมองเห็น วิเคราะห์ออกไป แล้วก็สืบค้นหาเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ ว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร


          แต่ยังมีกระบวนการคิดอีกอย่างหนึ่ง คือการคิดที่ต่อจากการรับรู้เมื่อกี้นี้ หรือแม้แต่หยิบยกเอาเรื่องราวขึ้นมาพิจารณาแล้วก็คิด ในกรณีอย่างนี้ เราอาจจะคิดถึงสิ่งนั้นด้วยความอยากได้ ที่เรียกว่า ความเห็นแก่ตัว หรือ คิดด้วยความเกลียดชังมุ่งร้าย เป็นต้น


          เมื่อเราอยากได้ เห็นแก่ตัว เราจะคิดอย่างหนึ่ง หรือถ้าเราเกลียดสิ่งนั้น ไม่ชอบใจ คิดในทางที่ประสงค์ร้ายต่อสิ่งนั้น เรียกว่า 'การทำลาย' เราก็คิดอีกอย่างหนึ่ง หรือถ้าเรามีความลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งนั้น เราก็จะคิดต่อสิ่งนั้นอีกอย่างหนึ่ง


          กระบวนการคิดอย่าง นั้นเรียกว่า 'การคิดปรุงแต่ง'  การคิดปรุงแต่งนี้ จะทำให้สิ่งที่เรากำลังพิจารณานั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง นี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดความเคลื่อนคลาด ไม่สามารถเข้าถึงสัจธรรม


          นอกจากนี้ ในการสื่อด้วยภาษานั้น ในขั้นสุดท้าย อาจจะมีการใช้คำพูดหรือภาษานั้นมาหลอกลวงซึ่งกันและกัน แสดงถึงการเจตนากล่าวเท็จ อันนี้ก็คือทางต่างๆที่ทำให้ภาษาไม่สามารถที่จะสื่อเข้าถึงสัจธรรมได้ ไม่ว่าคนจะหลงผิดหรือจะเข้าใจผิดด้วยตัวการรับรู้ก็ดี ด้วยกระบวนความคิดก็ดี เมื่อเขาเอาสิ่งที่เขาคิดเขารับรู้นั้นถ่ายทอดออกมา ภาษาที่เขาใช้จะไม่สื่อถึงความจริงที่แท้



           ในเมื่อเรามองเห็นสภาพทั่วไปเกี่ยวกับความบกพร่องของภาษา ซึ่งมีขีดจำกัดในการแสดงสัจธรรมอย่างนี้แล้ว เราก็จะพูดต่อไปอีกถึงว่า ความจริงบางทีตัวภาษานั้นเองก็เป็นตัวบังสัจธรรมได้ เมื่อครู่นี้เราพูดถึงว่ามันพยายามสื่อสัจธรรม แต่มันสื่อได้ไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้คลาดเคลื่อน


           นอกจากภาษาจะสื่อได้ไม่สมบูรณ์ผิดพลาดแล้ว บางทีก็เป็นตัวบังสัจธรรมเสียเองด้วย ในกรณีนี้ก็คืิอ การที่เราไม่รู้จักปฏิบัติต่อภาษาอย่างถูกต้อง เราก็จะได้รับโทษจากภาษาอย่างที่ทางพระเรียกว่า 'ติดสมมติ'*


          ยังมีความจริงซ้อนอยู่ในสภาพนั้นๆ ซึ่งเรายังมองไม่เห็น ในกรณีอย่างนี้ ภาษาที่เราตกลงกันสำหรับรู้ความจริงในระดับหนึ่ง ถ้าเราติดในความจริงระดับนั้น เวลาเราไปพูดกันในความจริงอีกระดับหนึ่ง การยึดติดในความเข้าใจในภาษาในระดับต้นก็จะไปบังความจริงระดับที่สอง


          ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คำว่า ความเย็น ความดึงดูด บนฟ้า อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นคำซึ่งใช้ในภาษาสามัญ เราถือว่ามันเป็นการแสดงความจริง แต่มันเป็นความจริงในระดับหนึ่ง ถ้าพูดในแง่ของวิทยาศาสตร์ที่แท้แล้ว ความเย็นมีหรือเปล่า ในแง่ตัวความจริงตามหลักของวิทยาศาสตร์เขาบอกว่า ความเย็นไม่มี มีแต่ความร้อน มีความร้อนที่สูง ความร้อนที่ต่ำ ก็กลายเป็นว่าตัวความเย็นนี่ก็เป็นภาษาสมมติในระดับหนึ่ง เป็นการแสดงความจริงในระดับหนึ่งซึ่งเรายอมรับ



          แต่เวลาเราไปพูดถึงความจริงอีกระดับหนึ่ง ความจริงระดับต้นกลับเป็นตัวที่บังความจริงในระดับนั้นได้ ถ้าเราไปยึดติดขึ้นมา เหมือนในภาษาธรรม เวลาเราพูดถึงปรมัตถ์ 'คน' ก็เป็นสิ่งสมมติเหมือนกัน เราเรียกสัตว์ที่มีลักษณะอย่างนี้ว่าเป็นคน แต่เมื่อเราวิเคราะห์ลงไปถึงตัวสภาวะความจริงที่แท้ในขั้นสัจธรรมแล้ว เราไม่เรียกว่า 'คน' แต่มันจะเป็นการประกอบกันเข้าของส่วนประกอบหรือองค์ต่างๆ ที่เราอาจจะเรียกว่าขันธ์ 5  มีส่วนย่อยต่างๆ เข้ามารวมกัน มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ อย่างนี้ ถ้าเราไปติดกับคำว่าคนเสียแล้ว เราก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริงอีกระดับหนึ่ง นี่คือความจริงระดับที่เรียกว่า สมมติ กับ ปรมัตถ์**


         คนเราใช้ภาษาส่วนใหญ่ในระดับสมมติ แต่ในการสื่อความหมายที่จะเข้าถึงสัจธรรมนั้น ถ้าต้องการสัจธรรมโดยสมบูรณ์จะต้องเข้าถึงปรมัตถ์ด้วย ทีนี้ ภาษาในระดับสมมติก็อาจจะมาบังความจริงในระดับปรมัตถ์ได้ ในเมื่อคนเราใช้ภาษากันไปแล้ว ก็มีความยึดติดในภาษาตาม concept ที่ตนมีอยู่



         ฉะนั้น จึงมีคำกล่าวของปราชญ์ที่พูดไว้เป็นคำคมว่า  ภาษานั้นเหมือนนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ มันเป็นเพียงสื่อสำหรับให้เรามองความจริง สิ่ง ที่เราต้องการแสดงความจริง ที่เราต้องการให้เห็นคือดวงจันทร์ แล้วภาษานี่ก็เป็นสื่อเหมือนนิ้วมือที่ชี้ไป ทีนี้ ถ้าหากว่าเราไปติดภาษา ก็เหมือนกับเราไปมองดูอยู่แค่นิ้ว แล้วก็ติดอยู่แค่ปลายนิ้วที่ชี้ไปดวงจันทร์ แล้วก็ไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ได้ เห็นแต่นิ้วมือ



         ฉะนั้น คนจึงไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ เพราะไปติดอยู่แค่ภาษา คนที่เข้าใจความจริงก็คือรู้ว่า ภาษานี้เป็นเพียงสื่อสำหรับให้เราเข้าถึงสัจธรรมเท่านั้น ฉะนั้น เราก็จะมองไปที่ดวงจันทร์ อันนี้จะเข้ากับคำที่ตั้งไว้เป็นหัวข้อปาฐกถาที่บอกว่า ภาษานั้นเป็นสื่อเพื่อเข้าถึงสัจธรรม แต่ไม่ใช่สื่อสัจธรรม เพราะว่าภาษาแสดงสัจธรรมออกมาไม่ได้ แต่ภาษาเป็นสื่อเพื่อเข้าถึงสัจธรรม คือภาษาสามารถทำให้คนที่ฉลาดใช้ความคิดพิจารณาเชื่อมโยงเพื่อจะเข้าถึงความ จริงได้ต่อไป ซึ่งในแง่นี้แหละภาษามีประโยชน์มาก



          ถ้าเรารู้จักใช้ภาษา ใช้ภาษาเป็น เราก็จะสามารถเข้าถึงสัจธรรมจากการใช้ภาษาได้ อย่างไรก็ตาม แม้แต่คำพูดอย่างคำว่า ภาษาเหมือนนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ อย่าไปติดอยู่แค่นิ้ว ให้มองที่พระจันทร์นั้น บางทีก็มีปัญหาอีก มันมีปัญหาได้ทุกขั้นตอนสำหรับมนุษย์ เพราะว่าคำอย่างนี้ก็มีการนำมาอ้างกันมาก ในแง่หนึ่งก็เป็นแง่ดีอย่างที่ว่ามาแล้ว คือ เป็นการกระตุ้นเตือนไม่ให้หลงยึดติดในภาษา แต่บางทีก็เป็นการนำมาอ้างเพื่อเบี่ยงเบนคนให้หันออกไปจากการวิเคราะห์ตัว ผู้พูดนั้น คือ ไม่ให้ผู้พูดนั้นถูกวิเคราะห์ว่าพูดจริงหรือไม่ ก็เลยอ้างคำคมประเภทนี้ขึ้นมา


          ในกรณีอย่างนี้ ก็จะมีปัญหาในแง่ที่ว่า นิ้วที่ใช้ชี้นั้นที่บอกว่าชี้ไปดวงจันทร์ ชี้ไปยังดวงจันทร์จริงหรือไม่ และสิ่งที่ถูกนิ้วนั้นชี้เป็นดวงจันทร์จริงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นปัญหาในขั้นต่อไป


          เมื่อเราบอกไม่ให้ติดในภาษา ให้ไปเอาของจริงที่ถูกชี้นั้น แต่ตอนนี้ปัญหาก็คือว่าตัวจริงของสิ่งที่ถูกชี้นั้น มันเป็นพระจันทร์หรือเปล่า เพราะผู้ชี้เองก็อาจจะชี้จากความหลงผิดก็ได้ เขาอาจจะหลงผิด ดวงจันทร์ที่เขาชี้ว่าเป็นดวงจันทร์นั้นอาจจะเป็นเงาพระจันทร์ในสระน้ำก็ได้ ไม่ใช่ตัวพระจันทร์จริง  ถ้าเป็นเงาจันทร์ในสระน้ำ มันก็ไม่ใช่ดวงจันทร์ดวงจริง


          บางคนอาจจะหลงไปกว่านั้น ตาไม่ดี มองเห็นไม่ชัดเจน สายตาสั้น มองไปเห็นโคมไฟดวงหนึ่งส่องสว่างอยู่บนยอดเขา ก็เข้าใจไปว่าดวงจันทร์ แล้วก็เอานิ้วชี้ไปที่โคมไฟดวงนั้น แล้วก็ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไปว่า โคมนั้นเป็นดวงจันทร์ หรือบางคนก็อาจจะหลงผิดไปชี้เอาที่หน้าปัดนาฬิกาบนหอนาฬิกาขนาดใหญ่ อย่างนี้เป็นต้น


          ในกรณีนี้ ตัวกลางคือสิ่งที่ถูกชี้นั้นไม่ใช่ตัวสัจธรรม ไม่ใช่ตัวความจริง ถ้าหากเกิดความหลงผิดอย่างนี้ คนทั้งหลายที่ถูกเขาชี้บอก ที่ถูกเขาใช้ภาษาเป็นสื่อนั้นจะยิ่งหลงผิดหนัก เข้าไปอีก คือจะไปหลงผิดในสิ่งที่ถูกชี้นั้น เอาสิ่งนั้นเป็นตัวสัจธรรม เป็นดวงจันทร์ไป ซึ่งเป็นความผิดพลาดร้ายแรงยิ่งกว่าความยึดติดในภาษาเสียอีก อันนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง


          แล้วก็มีปัญหาขึ้นอีกว่า ที่เขาชี้ผิด ชี้ไปยังสิ่งที่ไม่ใช่ดวงจันทร์นั้น เขาไม่รู้ เขาหลงผิด เขาเข้าใจผิดจริงๆ ว่านั้นเป็นพระจันทร์ แล้วเขาก็ชี้นั้นก็ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ บางคนทั้งๆที่รู้อยู่ว่าตัวเองไม่รู้ ไม่รู้ว่าอันนั้นเป็นพระจันทร์ แต่ก็ยังขืนชี้ อย่างนี้เขาเรียกว่า มีเจตนาหลอกลวง ซึ่งก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง


          ในแง่นี้เราก็สรุปได้ว่า ในกรณีที่ใช้ภาษาเหมือนนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ และดวงจันทร์นั้นไม่แน่ว่าจะเป็นสัจธรรมตัวแท้ตัวจริงของดวงจันทร์หรือไม่ เราก็จะต้องมีการสำรวจคนที่เป็นเจ้าของนิ้วที่ชี้พระจันทร์ด้วย ตอนนี้ก็จะไปถึงอีกขั้นหนึ่ง คือการที่จะต้องมาพิจารณาวิเคราะห์บุคคลผู้เป็นเจ้าของนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ว่าเป็นผู้ที่ไว้ใจได้หรือไม่ ที่จะเชื่อถือว่าเป็นผู้ที่ได้ชี้ดวงจันทร์
**********************************************************

เชิงอรรถ
*ความจริงโดยสมมติ (สมมติสัจจะ) ความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก (conventional truth)
**ความจริงโดยปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้าย ที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่กล่าวถึงได้ เช่น รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น (absolute truth)

           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น