วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม ตอนที่หก-จบ (หน้า 49-53)

 (คลิกเพื่ออ่านตอนที่ 1)

[จากหนังสือ 'การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม' พิมพ์โดย ธรรมสภา เมื่อ 2539
บรรยายโดย 'พระพรหมคุณาภรณ์' เมื่อ 29 ม.ค.2533]



บทสรุป

         
         เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้  ย่อมสรุปลงในหลักการใหญ่ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว คือ ต้องโยงเข้าสู่จุดสัมพันธ์ในระบบชีวิตของมนุษย์


          ปัญญาที่เห็นสอดคล้องกับสัจธรรม ซึ่งจะพัฒนาขึ้นไปจนเป็นปัญญาที่รู้แจ้งเข้าถึงสัจธรรมนั้น เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ


          ปัจจัยที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐินั้นมี 2 อย่าง คือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ เสียงบอกเล่าคำกล่าวสอนจากผู้อื่น (ปรโตโฆสะ)  โดยเฉพาะจากกัลยาณมิตร  และปัจจัยภายใน ได้แก่ การรู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง (โยนิโสมนสิการ)


          ปัจจัยภายนอกนั้นก็คือการสื่อภาษา ซึ่งสำัคัญมาก แต่ตัวบุคคลก็จะต้องมีปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการด้วย จึงจะทำให้ภาษาที่สื่อสำเร็จประโยชน์ฺในการเข้าถึงสัจธรรมได้จริง


          ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในนี้ มาประสานกันเชิงปฏิบัติการในกระบวนการที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจเจริญเพิ่มพูนยิ่งขึ้นๆ จนกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม


          กระบวนการนี้ำดำเนินไปโดยอาศัยการสืบต่อกันขององค์ประกอบ 4 อย่าง ที่สัมพันธ์ส่งผลอุดหนุนกันเป็นระบบ องค์ประกอบ 4 อย่างชุดนี้ ท่านเรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม กล่าวคือ


          1.   การเข้าหาแหล่งความรู้ที่เชื่อถือหรือไว้ใจได้ (สัปปุริสสังเสวะ - การเสวนาสัปบุรุษ)
          2.   ความขยันหมั่นและรู้จักรับข่าวสารข้อมูลที่สื่อผ่านแหล่งความรู้นั้นๆ (สัทธัมมัสสวนะ - การสดับสัทธรรม)
          3.   การรู้จักมองรู้จักคิดพิจารณาวิเคราะห์สืบสาวเชื่อมโยงเป็นต้น ที่จะหาความจริงและใช้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลที่สื่อกันนั้น (โยนิโสมนสิการ - การทำในใจโดยแยบคาย)
          4.   การลงมือปฏิบัติ หรือทำการให้เป็นไปอย่างมีความประสานสอดคล้องกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายในระบบ ทั้งที่เป็นหลักการ วิธีการ และจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรงที่จะนำไปสู่การเข้าถึงสัจธรรมในที่สุด (ธรรมานุธรรมปฏิบัติ - การปฏิบัิติองค์ธรรมย่อยโดยสอดคล้องกับหลักใหญ่)


          ในองค์ประกอบ 4 อย่างนี้น  2ข้อแรกเป็นปัจจัยภายนอกที่จะติดต่อผ่านสื่อภาษา  2ข้อหลังเป็นฝ่ายปัจจัยภายในของตนเองที่ต้องการจะเข้าถึงสัจธรรม


          ในองค์ประกอบ 2 ข้อของฝ่ายปัจจัยภายนอกนั้น ข้อแรกที่ว่าเป็นแหล่งความรู้ที่เชื่อถือหรือไว้ใจได้ ก็คือบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงจากการเข้าถึงสัจธรรมด้วยตนเองแล้ว ซึ่งเป็นฐานรองรับการสื่อภาษาในข้อที่ 2  ทำให้การสื่อภาษานั้น มีความหมายเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรม


          ส่วนในองค์ประกอบ 2 ข้อของฝ่ายปัจจัยภายใน  ข้อ 3 เป็นการปฏิบัิติที่ถูกต้องได้ผลต่อข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการสื่อภาษามาถึงตน ซึ่งนำไปสู่ข้อที่ 4 ที่จะช่วยให้ได้ประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรม


          โดยนัยนี้ การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม ในขั้นพื้นฐานก็คือ การที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรมของบุคคลหนึ่ง (ในข้อ 1) ไปยังอีกบุคคลหนึ่ง เพื่อให้บุคคลผู้นั้นเข้าถึงสัจธรรมด้วยประสบการณ์ตรงด้วย (ในข้อ 4)    ในแง่นี้ ข้อ 1 และ 4 เป็นเรื่องของประสบการณ์ตรง   ส่วนข้อ 2 และ 3 เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ประสบการณ์ตรงของบุคคลหนึ่ง (ข้อ 1) ช่วยนำอีกบุคคลหนึ่งไปถึงจุดหมายแห่งการได้ประสบการณ์ตรงนั้นนั่นเอง (ข้อ 1)


          ในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์อย่างถูกต้องนี้ จะเห็นว่ามีการประสานเกื้อหนุนกัน ทั้งระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก และระหว่างข้อมูลหรือสิ่งสดับผ่านสื่อภาษากับประสบการร์ตรงในการปฏิบัิิติ ซึ่งจะทำให้ความรู้ข้อมูลเบื้องต้นพัฒนาขึ้นไปเป็นความรู้ความเข้าใจถูกต้องสอดคล้องกับสัจธรรมที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ และทำให้สัมมาทิฏฐินั้นพัฒนาต่อไปๆ จนกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงธรรม


          นอกจากนั้น เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรจะได้ปัจจัยต่างๆ ช่วยอุดหนุนด้วยเพื่อช่วยเร่งรัดและทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้่นว่าปััญญาที่รู้เข้าใจเห็นสอดคล้องตามสัจธรรมที่เอื้อมา จะกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม


          ปัจจัยอุดหนุนนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องขององค์ประกอบด้านต่างๆ ของชีวิตของคนนั่นเอง ที่จะต้องมาสัมพันธ์ในลักษณะที่ส่งผลเกื้อหนุนต่อกันอย่างสอดคล้อง เมื่อการสื่อภาษาดำเนินไปโดยวิธีที่ถูกต้อง และประสานเข้ากับระบบสัมพันธ์แห่งการพัฒนาชีวิตของคน ก็สามารถนำสู่ผลคือ การเข้าถึงสัจธรรม


          ปัจจัยอุดหนุน 5 ประการนั้น คือ

          1.   พฤติกรรมที่เกื้อหนุน (ศีล)
          2.   ข้อมูลความรู้ที่ถ่ายทอดบอกกล่าวเล่าเรียนสดับฟัง (สุตะ)
          3.   การสนทนา ถกเถียง อภิปราย (สากัจฉา)
          4.   การพัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิตใจ (สมถะ)
          5.   การพัฒนาปัญญาให้มองเห็นโลกและชีวิตตามเป็นจริง (วิปัสสนา)


          เมื่อการสื่อภาษาด้วยสุตะและสากัจฉา ประสานเข้ากับกระบวนการพัฒนาชีวิตที่สัมพันธ์กันครบถ้วนทั้งระบบ คือ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา   ก็จะอุุดหนุนปัญญที่เห็นสอดคล้องกับสัจธรรม คือ สัมมาทิฏฐิให้พัฒนาขึ้นไปจนเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม อันจะส่ิงผลต่อชีวิต ทำให้เข้าถึง สันติ สุข และอิสรภาพ ที่แท้จริง  ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ตรวจสอบและวัดผลไปด้วยในตัวว่า เป็นการเข้าถึงสัจธรรมที่จริงแท้


          เมื่อการสื่อภาษาช่วยให้ชีวิตพัฒนาเข้าถึงสันติ สุข และอิสรภาพที่แท้จริงแล้ว การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรมก็บรรลุจุดหมาย


          การปาฐกาถาครั้งนี้ จึงจบลงได้ ด้วยประการฉะนี้.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น