วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม ตอนที่สี่ (หน้า 31-40)

 (คลิกเพื่ออ่านตอนที่ 1)

[จากหนังสือ 'การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม' พิมพ์โดย ธรรมสภา เมื่อ 2539
บรรยายโดย 'พระพรหมคุณาภรณ์' เมื่อ 29 ม.ค.2533]


ฐานที่แท้ของการแก้ความผิดพลาด

          อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่ว่ามานี้ จุดที่จะต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้คนมีทางผิดพลาด สิ่งนั้นก็คือการรู้จักคิดนั่นเอง การรู้จักคิดพิจารณา การวิเคราะห์สืบค้นสิ่งต่างๆ


          วิธีหนึ่งคือ การรู้จักใช้คำถาม การใช้คำถามเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ความคิดเดิน เจอ อะไรก็ถามว่าคืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้มันเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นสัมพันธ์กันอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะมีผลเกิดขึ้นอย่างไร มันมีแง่ดีแง่เสียอย่างไร เป็นทางของการสืบค้นหาความรู้เป็นนักวิเคราะห์ เป็นการรู้จักคิดอย่างหนึ่ง วิธีการอย่างนี้ทางพระท่านเรียกว่า 'โยนิโสมนสิการ'


          รวม ทั้งหมดในการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เพื่อให้การสื่อภาษาไม่เป็นอุปสรรคในการปิดกั้นการเข้าถึงสัจธรรม แต่ให้เป็นตัวเอื้อที่จะพาเข้าสู่สัจธรรมก็คือ การมีโยนิโสมนสิการนั่นเอง


          อีกแง่หนึ่งก็คือว่า ในเวลาที่เรามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการสื่อภาษาต่างๆ ที่ว่ามาแล้วที่ทำให้เกิดความหลงผิด แม้กระทั่งได้เจอประสบการณ์จริงแล้ว ก็ยังมีการวินิจฉัยผิดได้อีก พอถึงตอนนี้ ที่เราบอกว่าภาษาไม่สื่อความจริง แต่เราบอกว่าต้องประสบการณ์ถึงจะจริง เสร็จแล้วพอพูดไปพูดมาเราก็เห็นว่า การที่จะเอาประสบการณ์ตรงเป็นตัวตัดสิน บางครั้งก็เป็นปัญหา ไม่แน่ว่าจะทำให้เข้าถึงความจริงหรือไม่ พอถึงจุดนี้ก็กลายเป็นว่าภาษากลับมาช่วยอีก ตอนแรกเราบอกว่าภาษาบกพร่อง แล้วเราจะอาศัยประสบการณ์ตรงมาแก้ ต่อมาปรากฏว่าประสบการณ์ตรงนี่บกพร่อง ตอนนี้เราจะกลับเอาภาษามาแก้


          การที่จะแก้ความหลงผิดจาก ประสบการณ์ตรงได้ ก็ด้วยภาษาอีกนั่นแหละ ภาษาที่สื่อ เช่น จากคนที่รู้และเข้าถึงความจริง แล้วมีสติปัญญามากกว่า คนเหล่านั้นก็จะมาใช้ภาษานี่แหละในการที่จะมาแก้ไขความเข้าใจของคนที่หลงผิด ในประสบการณ์ตรง ทำให้เขาเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้เขาเห็นทิศทางเดินที่จะก้าวหน้าต่อไป ที่ออกจากความหลงผิดในการที่เข้าใจประสบการณ์ตรงผิดนั้น


          เพราะฉะนั้น ภาษาจึงกลับมามีประโยชน์อีกขั้นหนึ่งในการที่จะช่วยพาให้เข้าถึงความจริง หรือสัจธรรมได้ ในกรณีที่ว่าประสบการณ์ตรงนั้นทำให้เกิดความผิดพลาด เพราะฉะนั้น ภาษากลับมาเป็นตัวสื่อแก้ไข


          คราวนี้เราจะเห็น ความวกวนกลับไปกลับมา แต่เราจะเห็นประโยชน์ของภาษาเพิ่มขึ้นว่าภาษานี้มันดีอย่างไร แม้แต่ประสบการณ์ตรงบางทีก็กลับสู้ภาษาไม่ได้ ในแง่ที่ว่าภาษากลับมาช่วยแก้ไขความหลงผิดที่เกิดจากประสบการณ์ตรงอย่างที่ว่ามาแล้ว ทำให้หลุดออกจากประสบการณ์ตรงที่ผิด เดินหน้าต่อไปเพื่อพบประสบการณ์ที่แท้จริง


          เป็นอันว่าเท่าที่พูดมา จะเห็นว่าภาษานั้นสื่อสัจธรรมโดยตรงไม่ได้ เรายอมรับแล้ว แต่ภาษาก็สื่อเพื่อให้เข้าถึงสัจธรรมได้ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องใช้โดยรู้จักปฏิบัติต่อภาษาให้ถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติต่อภาษาผิด มันก็จะไม่ช่วยให้เข้าถึงสัจธรรมได้ จึงต้องมีการระมัดระวังการใช้ภาษา เพื่อจะไม่ให้ภาษาพาคนให้หลงทางมากยิ่งขึ้น ไม่ให้ภาษาเป็นสื่อในการหลวกลวงเป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงโดยเจตนาหรือการหลอกลวงโดยความหลงผิดไปเองก็ตาม


          ตอนนี้จะพูดถึงวิธีปฏิบัติต่อภาษา คือในการปฏิบัติต่อเรื่องภาษาเพื่อสื่อให้เข้าถึงความจริงนี้ จะขอแยกแง่ที่หนึ่งคือ ผู้ใช้ภาษาเป็นสื่อหรือฝ่ายผู้พูด ผู้พูดหรือผู้ใช้ภาษาเป็นสื่อจะปฏิบัติอย่างไรในการที่จะให้ภาษาเป็นสื่อเพื่อให้เข้าถึงความจริงไม่ให้หลงผิดไปเสีย


          สำหรับผู้ที่ใช้ภาษาเป็นสื่อหรือผู้พูดนั้น ประการที่หนึ่งก็คือ พื้นฐานในตนเอง รากฐานหรือพื้นในตนเองก็คือ จะต้องมีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบในการใช้ภาษา ซึ่งหมายถึงความจริงใจต่อสัจธรรมนั้น และความจริงใจต่อผู้ฟังด้วย อันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในเบื้องต้น


          ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่การใช้ภาษา เราต้องมีความจริงใจตั้งแต่ต้น ถ้าผู้นั้นไม่รู้สัจธรรมที่กำลังจะเอามาพูด สิ่งที่เขาพูดก็ไม่ใช่สัีจธรรมตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว บอกว่าเรากำลังพูดความจริง แต่ที่จริงนั้นสิ่งนั้นไม่จริง เพราะเขาไม่รู้ เพราะฉะนั้น มันก็ไม่สามารถจะนำไปสู่ความจริงได้ เพราะเป็นความเท็จตั้งแต่ต้นแล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นความหลอกลวงในขั้นที่หนึ่ง       


          ที่นี้ ต่อไป ในสิ่งธรรมดาสามัญที่เขาไม่รู้ก็ยังบอกว่ารู้ คือคนที่ไม่ซื่อสัตย์ ใช้ภาษาหลอกลวง ก็เอาสิ่งธรรมดาที่ตัวไม่รู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อสิ่งธรรมดาที่ตัวไม่รู้ก็ยังบอกว่ารู้  แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าเขาจะบอกสัจธรรมได้ สัจธรรมที่เขาพยายามจะบอกจะเป็นจริงได้อย่างไร นี่ก็เป็นปัญหาต่างๆ ที่จะต้องแก้ไข ซึ่งทำให้เราจะต้องกำชับคนผู้แสดงหรือสื่อภาษาให้มีความซื่อสัตย์จริงใจ และถ้าเป็นไปได้ต่อไปก็คือ มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง


          ความปรารถนาดีต่อผู้ฟังก็คือต้องการให้เขามีความรู้ ไม่ต้องการความปรารถนาดีที่หลอกลวง หรือไม่ทำเพียงเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตัวเอง หรืออวดตัว เป็นต้น เพราะคนบางทีก็อาจจะใช้ภาษาเป็นสื่อเพื่อแสดงตัวให้เห็นว่าเก่งเท่านั้น ถ้าประกอบด้วยความซื่อสัตย์จริงใจประการหนึ่ง มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟังอีกประการหนึ่ง ก็เป็นพื้นใจสำคัญที่จะนำเข้าสู่สัจธรรม


          ทีนี้ ต่อจากการมีพื้นฐานในจิตใจของตัวเองแล้ว ในทางปฏิบัติเมื่อใช้ภาษาเป็นสื่อก็จะต้องใช้ concept หรือสัญญาต่างๆ ให้ตรงกับสิ่งที่ตนจะสื่อ และใช้ถ้อยคำให้สื่อโดยตรงถึง concept นั้นๆ ใช้ให้มันตรงกัน ซึ่งต้องเป็นการใช้อย่างระมัดระวัง เมื่อมีความรับผิดชอบแล้ว ก็จะดีขึ้นเป็นฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็จะมีปัญหาได้เหมือนกันว่า บางทีเรามีถ้อยคำที่ใช้แล้วมีความหมายไปคนละอย่าง


          ขอยกตัวอย่าง มีนิทานเล่าว่า คนกรุงเทพฯ คนหนึ่งไปเมืองเหนือ พอถึงเวลาอาหาร เขาก็ให้ไปรับประทานอาหารด้วยกัน กำลังรับประทานอาหารด้วยกัน เจ้าของบ้านถามว่ารำไหม คนที่เป็นแขกก็งง นึกว่าเอาละสิ นี่ยังไงกะเราแล้ว เรามาจากต่างถิ่นตัวคนเดียว จะไม่ทำตามก็กลัว เตรียมลุกขึ้นมา ก็ปรากฏว่าเข้าใจผิด คำว่า 'รำ' ของถิ่นนั้นแปลว่า อร่อย เรื่องก็เท่านั้นเอง


          อีกตัวอย่างหนึ่ง ชายคนหนึ่งยืนรอรถอยู่ริมถนนในต่างจังหวัด แล้วรถก็วิ่งมาๆ แกก็โบกมือให้รถรับ ทีนี้ มีรถคันหนึ่งผ่านมา เขาก็ไม่หยุด คนบนรถตะโกนว่า "คันหลังๆ" คนที่ยืนอยู่ข้างล่างก็ตะโกนไปด้วยความหงุดหงิดขัดเคืองว่า "คันหลังก็เกาสิ" ว่าอย่างนั้น


          นี่หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าเข้าใจไปคนละเรื่อง ความหมายของคนที่อยู่บนรถหมายความว่าให้รอคันต่อไป แต่คนข้างล่างเข้าใจไปว่า นายคนนั้นคันหลังของตัวเองที่เป็นอาการทางร่างกาย ก็เลยบอกว่าให้เกาสิ อะไรอย่างนี้เป็นต้น


          เพราะฉะนั้น การใช้ภาษาเป็นสื่อ ถ้าหากว่าวิปริตในเรื่องอย่างนี้ก็จะทำให้การสื่อความจริงคลาดเคลื่อน จึงต้องใช้ถ้อยคำให้ตรงกับ concept ที่แท้จริง หรือสัญญาที่จะสื่อไปถึงตัวประสบการณ์นั้นได้


          ต่อจากนั้น การที่จะใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะสื่อให้คนอื่นได้เกิดความรู้ความเข้าใจ มีหลักที่เรียกว่า ความแตกฉาน 4 ประการ ความแตกฉานนี้ ทางพระเรียกว่า ปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉาน มี 4 ประการ ได้แก่


          ปฏิสัมภิทาประการที่หนึ่ง คือ 'อัตถปฏิสัมภิทา' ได้ความแตกฉานหรือปัญญาแตกฉานในความหมายหรือในเนื้อความ ที่ว่ามีความแตกฉานในความหมาย ก็หมายความว่า เมื่อพูดถึง concept อะไร หรือตัวกำลังจะเอา concept อะไรขึ้นมาอธิบาย เอาเรื่องอะไรก็ตาม ศัพท์อะไรก็ตามมาอธิบาย ตัวเองเข้าใจความหมายของเรื่องนั้นอย่างดี แล้วสามารถขยายความมองเห็นรายละเอียดแง่มุมต่างๆ ชัดเจน  ข้อนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการศึกษาที่ว่า คนจำนวนไม่น้อยที่ว่ารู้จักสิ่งนั้น แต่มองเห็นผิวเผินคลุมเครือ ไม่เห็นเนื้อหาภายในชัดเจน เมื่อตัวเองก็เห็นไม่ชัด ก็ไม่สามารถจะขยายความออกไปให้คนฟังรู้อะไรต่ออะไรได้ละเอียดพิสดาร ไม่สามารถแสดงรายละเอียดหรือขยายความ ความมีปัญญาแตกฉานในเนื้อความ เนื้อหา และการขยายความหมาย เป็นข้อที่หนึ่ง


          ประการที่สองคือ 'ธัมมปฏิสัมภิทา' หมายความว่า ในเรื่องที่เป็นข้อความยืดยาว เนื้อหาสาระรายละเีอียดมากมาย ต้องสามารถจับหลักจับประเด็นได้ ถึงแม้คนอื่นจะพูดมาตั้งนาน อาจจะพูดตั้งครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่ง คนที่มีปัญญาแตกฉานในแง่ที่สองนี้ ฟังแล้วก็จับประเด็นได้ หรือเวลาจะพูดให้คนอื่นฟัง ก็สามารถแสดงหลักออกมานิดเดียวให้คนอื่นจับจุดได้ตรงจุด


          คนที่ไม่มีปัญญาแตกฉานในหลักอย่างนี้ จะมีความพร่าสับสนในการที่จะอธิบาย ทำให้คนอื่นไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้ดี เพราะฉะนั้น คนที่ทำหน้าที่ที่จะเอาภาษามาใช้เป็นสื่อ จะสอนเขา จะพูดอธิบาย บรรยายต่างๆ จะต้องมีข้อนี้ด้วย


          หนึ่ง หลักการสั้นๆ หรือศัพท์คำเดียว ตัวเองเห็นกว้างลึกชัดเจน ซึ่งจะทำให้สามารถอธิบายขยายความแจกแจงออกไปได้จนกระทั่งคนเข้าใจเห็นชัดเจน


          สอง ถ้าเป็นเรื่องยาว ตัวเองมองเห็นภาพรวมจับจุดได้ ซึ่งจะทำให้สามารถสรุปรวมใจความสำคัญมาตั้งเป็นหลักให้คนอื่นได้ จับประเด็น วางประเด็นให้เขาได้


          สังคมปัจจุบันนี้กำลังจะเป็นสังคมที่เราเรียกว่าสังคมยุคข่าวสารข้อมูล คือกำลังเข้าสู่ information age จะแปลว่า ยุคข่าวสารข้อมูลหรือยุคสารสนเทศ หรืออะไรต่างๆ แล้วแต่จะเรียกกันไป ในยุคนี้การที่จะปฏิบัติต่อภาษา การใช้ภาษาเป็นสื่อเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องเข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ภาษากำลังมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นยุคข่าวสารข้อมูล เราจะต้องมีตัวปัญญาแตกฉานในความหมาย ที่เรียกทางพระว่า 'อัตถปฏิสัมภิทา' และจะต้องมีปัญญาแตกฉานในหลักที่เรียกว่า 'ธัมมปฏสัมภิทา'


          ต่อไปประการที่สาม 'นิรุตติปฏิสัมภิทา' แปลว่า ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ นิรุตติหรือนิรุกติก็คือเรื่องภาษานี่เอง คือ ความชำนาญในการใช้ภาษา ตัวเองก็เข้าใจภาษาดีแล้วด้วย และสามารถเอามาใช้สื่อด้วย ยิ่งคนที่รู้ภาษามากๆ ก็ยิ่งได้เปรียบ นอกจากรู้ภาษาแล้ว จะต้องใช้ภาษาเป็น รู้จักนำภาษามาใช้ในการถ่ายทอดความคิดความเข้าใจได้ คนจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตัวมีความต้องการอะไรบางอย่าง มีความคิดบางอย่างดีๆ แต่สื่อถ่ายทอดไม่เป็นเลย เขียนก็ไม่ออก พูดก็ไม่ได้ คำพูดไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจชัดเจน


          คนที่มีนิรุตติปฏิสัมภิทา มีปัญญาแตกฉานในภาษา สามารถนำถ้อยคำต่างๆ มาเรียบเรียง มาจัด มาใช้ เอาคำที่เหมาะที่มันให้ความหมายกระทัดรัด รัดกุม หรือให้ความหมายเด่น ให้ความหมายกินใจ เอาคำเหล่านี้มาใช้่ พอใช้ได้ถูกต้อง คนก็เกิดความเข้าใจชัดเจนด้วย เกิดความพอใจด้วย เมื่อพอใจแล้ว ก็เกิดความสนใจและเลยต่อไปถึงความเชื่อถือศรัทธา อะไรๆ ต่อๆ ไป  รวมทั้งอาจจะกระตุ้นเร้าให้เกิดความใฝ่ในการที่จะค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ ต่อไป


          เพราะฉะนั้น ความมีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ จึงเป็นสิ่งสำคัญประการที่สาม ถ้าขาดนิรุตติแล้ว ยุคข่าวสารข้อมูลก็จะเป็นยุคที่บกพร่อง การสื่อภาษาให้เข้าถึงความจริงก็จะบกพร่องไปด้วย คนที่ขาดข้อนี้จะอยู่ในยุคนี้ไม่ได้ดี


          ประการที่สี่ คือ 'ปฏิภาณปฏิสัมภิทา' แปลว่า ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ ข้อนี้เป็นปัญญาในทางปฏิบัติ คนเรานี้มีความรู้ในเรื่องต่างๆ บางคนเรียนรู้มากมายแต่ไม่สามารถใช้ความรู้เหล่านั้น ใช้ความรู้ไม่เป็น คือมีปัญหาเกิดขึ้น มีเรื่องราวเกิดขึ้น ไม่สามารถเอาความรู้ที่มีอยู่มากมายนั้นมาเชื่อมโยงกันเป็นความรู้ความคิดใหม่ที่ใช้เฉพาะกรณีนั้นเฉพาะเรื่อง เช่น แก้ปัญหานั้นได้


          คนเราที่จะแก้ปัญหาได้จะต้องสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่สำหรับใช้ในกรณีนั้นโดยเฉพาะ แต่ความรู้ใหม่นั้นเกิดจากไหน ก็คือจากการที่เรามีความรู้เก่า แล้วเอาความรู้นั้นมาเชื่อมโยงกัน จับเอามาสัมพันธ์กันตรงกับเรื่อง แก้ปัญหาได้ อย่างนี้เรียกว่าความคิดทันการ เรื่องการตอบปัญหา การพิจารณาเรื่องราวต่างๆ การสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการต้องมีความคิดทันการนี้ด้วย จึงจะใช้ได้ตรงกับเรื่องกับราว แก้ปัญหาต่อเรื่องนั้นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งและพัฒนาความรู้ขั้นต่อๆ ไป  ตกลงว่ามีปัญญาแตกฉาน 4 ประการที่เรียกว่า ปฏิสัมภิทา 4 คือ


          1.  ปัญญาแตกฉานในอรรถะ คือ เนื้อความและความหมายที่จะขยายออกไปได้ เรียกว่า 'อัตถปฏิสัมภิทา'

          2.  ปัญญาแตกฉานในหลัก  คือในตัวประเด็น หมายความว่า เรื่องราวมากมายพิสดารสามารถจับมาตั้งวางเป็นหลักเป็นประเด็นได้ เรียกว่า 'ธัมมปฏิสัมภิทา'

          3.  ปัญญาแตกฉานในภาษา ความสามารถเข้าใจในภาษา ในถ้อยคำสำนวน ในรส เป็นต้น ที่เป็นเรื่องของภาษาชัดเจน สามารถเลือกมาใช้ให้ได้ผลมีประสิทธิภาพในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกในการกระตุ้นอารมณ์ แสดงความต้องการของตนได้ ชัดจูงคนอื่นได้ เป็นต้น เรียกว่า 'นิรุตติปฏิสัมภิทา'

          4.  ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ เอาความรู้ที่มีอยู่หรือได้รับถ่ายทอดมาเชื่อมโยงสัมพันธ์สร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่ ใช้แก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ เรียกว่า 'ปฏิภาณปฏิสัมภิทา'


          ครบถ้วนอย่างนี้ก็จะอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูลได้เป็นอย่างดี การใช้ภาษาเป็นสื่อในการที่จะให้เข้าถึงสัจธรรมจะได้ผลดีเป็นอย่างมากด้วย



เมื่อรู้จักใช้ ก็ประสานประโยชน์ได้
เมื่อปฏิบัิติพอดี ก็เป็นคุณทั้งหมด


           นอกจากนั้นก็มีอีกแง่หนึ่ง ขั้นสุดท้ายสำหรับตัวบุคคลที่เป็นผู้พูดเอง คือการใช้ภาษาอย่างรู้เท่าทัน ไม่ยึดติด ตรงนี้เป็นตัวสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อตนเองในทางจิตใจ ทำให้เกิดความปลอดโปร่งใจ และเมื่อใจปลอดโปร่ง ปัญญาก็จะแจ่มใสด้วย ช่วยในการที่จะใช้ภาษาต่อๆ ไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใจของคนนั้นจะต้องเป็นอิสระ ใจที่เป็นอิสระก็คือใจที่ใช้ภาษาอย่างรู้เท่าทัน ท่านเรียกว่าไม่ยึดติด ใช้ไปตามโวหารโลก อย่างพระพุทธเจ้าที่ทรงมีลักษณะอย่างหนึ่งว่า ทรงรู้เท่าทันภาษา รู้ว่าสิ่งนี้เขาสมมติเรียกกันว่าอย่างนี้ ก็เข้าใจและใช้ไปตามสมมตินั้น แต่ไม่ติดในภาษานั้น อันนี้ก็เป็นลักษณะสุดท้าย อาจจะยากไปสักนิด แต่เป็นลักษณะในขั้นสูงสุด คือ ขั้นที่เกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น