วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม1/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต) 
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา


ตอน 1. ความนำ  (หน้านี้)
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ขอเจริญพร ท่านอาจารย์คณบดี ท่านประธานกรรมการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ท่านรองประธานโครงการตำราฯ และท่านสาธุชนทั้งหลาย

อาตมาภาพรู้สึกเป็นสิริมงคล ที่ได้มีโอกาสมากล่าวธรรมกถาในที่ประชุมนี้ ซึ่งประกอบด้วยท่านผู้ใฝ่ธรรมและวิทยาการทั้งหลายในการกล่าวธรรมกถานี้ ถือว่าได้มีส่วนร่วมอุทิศกุศลแด่ท่านนาคะประทีปหรือท่านพระสารประเสริฐ ซึ่งได้มีการจัดงานนิทรรศการเพื่อเจาะจงต่อท่านในโอกาสนี้ด้วย สำหรับคุณงามความดีที่ท่านพระสารประเสริฐหรือนาคะประทีปได้บำเพ็ญไว้ อันเป็นคุณประโยชน์แก่วิชาการ ทำให้เกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายอยู่แล้ว ทั้งในส่วนตนเองและที่ได้ยินได้ฟังจากคำสดุดีในที่ประชุมนี้

สำหรับเรื่องที่ท่านได้นิมนต์อาตมาภาพมาแสดงในวันนี้คือเรื่องพุทธธรรมนั้น เป็นเรื่องที่มีความกว้างขวางพิสดาร มีรายละเอียดมาก จะนำมากล่าวในที่นี้ให้หมดคงเป็นไปไม่ได้ หรือจะพูดแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด ก็จะกลายเป็นการจำกัดวงแคบเกินไป ไม่เพียงพอแก่ชื่อเรื่องที่ตั้งเอาไว้ว่า “พุทธธรรม” ซึ่งเป็นคำกลางๆ มีความหมายมาก

อีกประการหนึ่ง ถ้าจะนำมากล่าวโดยสรุป คือ นำมาแสดงเป็นหัวข้อว่า หลักพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาสั่งสอนมีอะไรๆ บ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องซ้ำซาก เพราะท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินได้ฟังมาในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก อาตมาภาพจึงมานึกดู เห็นว่า ในสมัยปัจจุบันนี้ พอจะกล่าวได้ว่า มีความเข้าใจและสนใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นพอสมควร ในหมู่ท่านที่เป็นนักวิชาการทั้งหลายในวงวิทยาการสาขาต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องทางสังคมวิทยาบ้าง ทางการศึกษาบ้าง ทางการปกครองบ้าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่า นักวิชาการในสาขาต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมาศึกษาพระพุทธศาสนา ย่อมตีความหลักธรรมไปตามพื้นฐานทางวิชาการในสาขาที่ตนได้ฝึกฝนอบรมมา และในแง่ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในสาขาวิชานั้นๆ

เมื่อความสนใจในทางพระพุทธศาสนาสมัยปัจจุบัน เป็นไปในรูปเช่นนี้ อาตมาภาพจึงคิดเห็นว่า เราควรมีแนววิธีอะไรบางประการที่จะช่วยในการศึกษาพุทธธรรม เพื่อให้การวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นไปด้วยความแน่ใจ ให้เกิดความชัดเจน และความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าการตีความหรือวินิจฉัยความหมายต่างๆ นั้นหากว่าทำไปไม่ถูกต้อง อาจจะเป็นอันตรายได้มาก ดังจะเป็นได้ในปัจจุบันนี้ เท่าที่นักวิชาการบางท่านตีความหมายไปต่างๆ นั้นอาตมาภาพเห็นว่า บางคราวก็เป็นโทษไม่น้อย

ทีนี้ เราจะมีแนววิธีศึกษาอย่างไร ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยในการตีความหมาย และวินิจฉัยคุณค่าของพุทธธรรมนั้น ให้เป็นไปโดยถูกต้อง ในข้อนี้อาตมาภาพคิดว่า เราควรพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานบางประการของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ความเข้าใจในลักษณะพื้นฐานบางประการของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น จะเป็นเครื่องประกอบช่วยให้การวินิจฉัยความหมายของหลักธรรมต่างๆ ชัดเจน และได้ความหมายที่ถูกต้องยิ่งขึ้น หลักแนว และวิธีต่างๆ ที่อาตมาภาพจะนำมาเสนอในที่นี้ อาจเรียกว่าเป็น ‘เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม’ ก็ได้ อาจจะไม่ใช่ชื่อที่ถูกต้องทีเดียว แต่ว่าพอใช้ได้ไปก่อน ในการศึกษาพุทธธรรม เมื่อเรามีหลักเกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าเช่นนี้แล้ว อาตมาภาพก็มีความเชื่อมากขึ้นว่า เราจะได้ความหมายของหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องชัดเจนสมบูรณ์ขึ้น

ในปัจจุบัน เท่าที่เราได้ยินได้ฟังบุคคลบางท่านแสดงหลักธรรมในโอกาสต่างๆ นั้น บางคราวท่านนำมากล่าวในทางที่อาจให้เกิดโทษ เช่น เมื่อพูดถึงหลักธรรมในแง่ของสังคมวิทยา ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ ในแง่ของการปกครองหรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น ความหมายที่นำมาพูด บางทีก็เป็นเพียงภาพที่เกิดจากความเข้าใจไขว้เขว โดยประมวลเอาประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่ หรือการดำรงชีวิตของบุคคลบางกลุ่มบางพวก มาสร้างความหมายขึ้นในทางที่ทำให้เห็นว่าพุทธธรรมนั้น บางครั้งก็ก่อให้เกิดโทษภัย แต่ความเข้าใจเช่นนั้น ไม่ได้เกิดจากการศึกษาค้นคว้าโดยถูกวิธี


ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดจากการไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้

เพื่อให้เห็นชัดเจนในความหมายเช่นนี้ จะขอยกตัวอย่างง่าย เช่น หลักธรรมข้อสันโดษ มีการกลายความหมายไปถึงกับว่า เป็นการปลีกตัวออกไปอยู่โดดเดี่ยว ไม่เกี่ยวข้องกับใครๆ ก็มี หลักธรรมเรื่องการทำบุญ มองในแง่ของสังคมวิทยา บางท่านเห็นไปว่า เป็นการขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศก็มี ดังนี้ เป็นต้น ความหมายที่ยกขึ้นอ้างนั้นคลาดเคลื่อน เกิดจาการมองผาดเผิน โดยถือเอาประสบการณ์ของตนเอง จากคนบางกลุ่ม บางพวก เป็นประมาณ มิได้เกิดจากความเข้าใจด้วยการศึกษาอย่างถ่องแท้ เมื่อนำทัศนะเช่นนั้นมาแสดงออกก็เกิดโทษได้ ๒ ชั้น
    ประการที่ ๑ ความเข้าใจผิดพลาดนั้น มีโทษมีพิษร้ายอยู่ในตัวแล้ว
    ประการที่ ๒ การนำมาแสดงโดยการพูด การเขียน เป็นต้น จะเพิ่มโทษพิษภัยมากขึ้นอีกเป็นซ้ำสอง เพราะจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ความเข้าใจนั้น ในทางที่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ทำให้ผู้อื่นพลอยเข้าใจผิด และเห็นผิดไปด้วย

สำหรับความเข้าใจเช่นนี้ อาตมาภาพเห็นว่า เราพอจะเปรียบเทียบได้กับความเข้าใจเรื่องบางเรื่อง ของคนบางพวก ในปัจจุบันนี้เอง แม้แต่เรื่องที่เรากำลังพูดถึงกันแพร่หลาย อย่างเช่น เรื่องประชาธิปไตย ในความเข้าใจของชาวบ้านบางคน อาจจะนึกว่าประชาธิปไตย หมายถึง การทำอะไรอะไรได้ตามความชอบใจ บางคนอาจจะคิดว่าได้แก่การเดินขบวน การสไตร๊ค์ เป็นต้น หรือบางคนอาจจะเข้าใจว่า หมายถึง รัฐธรรมนูยที่เขียนเป็นเล่มสมุดวางอยู่บนพานที่อนุสาวรีย์ นี่คือความเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยของคนบางคน ซึ่งท่านทั้งหลายที่มีการศึกษาได้รอบรู้ในทางวิชาการย่อมปฏิเสธทันทีว่า นี้เป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง อันนี้ฉันใด แม้ความเข้าใจของบางท่านที่นำเอาหลักธรรมต่างๆ มาแสดงทางวิชาการในข้อเขียนต่างๆ นั้น บางทีก็เป็นเพียงความเข้าใจเช่นว่านี้ คือความเข้าใจที่เกิดจาการเห็นภาพเพียงบางส่วน และพฤติการณ์ของคนบางกลุ่มบางประเภท แล้วนำมาสรุปเอาว่า เป็นความหมายของหลักธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น จะต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเรามีความหวังดีต่อประเทศชาติ เราจะต้องสำนึกว่า หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาที่อยู่ในความเชื่อถือของประชาชน เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเราเป็นนักสังคมวิทยา เรารู้เห็นอยู่ว่า คนในสังคมของเรา มีความเชื่อถือในหลักธรรมต่างๆ เช่น สันโดษ เป็นต้น


ถ้าไม่ทำความเข้าใจหลักธรรมให้ถูกต้องถ่องแท้ ก็จะหาจุดเริ่มต้นแห่งการแก้ปัญหาไม่ได้

ถ้าเรามีความประสงค์ดี คิดจะช่วยสังคมให้เดินไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เราไม่มีทางเลี่ยงที่จะไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อถือเหล่านั้น เมื่อเราจะเกี่ยวข้อง ก็จำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเราไม่พยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้องถ่องแท้ เราจะหาจุดเริ่มต้นแห่งการแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่มีจุดเชื่อมต่อระหว่างปัญหากับทางที่จะดำเนินไปสู่การแก้ปัญหา พูดง่ายๆ ว่า เราไม่เข้าใจปัญหา และไม่เข้าใจสังคมที่เราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น อาตมาภาพจึงนำเรื่องนี้มาแสดงในที่นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น