วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม7/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต)
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา


ตอน 1. ความนำ
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
ตอน 2. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ
ตอน 3. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก
ตอน 4. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ
ตอน 5. ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที
ตอน 6. ธรรมที่คงตัวกับธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้
ตอน 7. ธรรมที่เป็นกุศลกับอกุศลเป็นปัจจัยกันได้ (หน้านี้)
ตอน 8. กิจกรรมสนองตัญหากับกิจกรรมทางปัญญา และบทส่งท้าย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 

๖.  ธรรมที่เป็นกุศลกับอกุศลเป็นปัจจัยกันได้


          อีกข้อหนึ่งคือ  ความเป็นปัจจัยระหว่างกุศลกับอกุศล  หมายความว่า  ความดีเป็นปัจจัยของความชั่วได้  และความชั่วก็เป็นปัจจัยของความดีได้  อันนี้ไม่ได้ขัดกันกับหลักธรรมที่ว่า  ทำกรรมดีได้ผลดีและทำกรรมชั่วได้ผลชั่ว  แต่กลับเป็นหลักสนับสนุน  แต่เราไม่ค่อยได้คิดกัน  กุศลเป็นปัจจัยของอกุศล  อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล  ความดีย่อมเป็นปัจจัยแก่ความชั่วได้  ความชั่วย่อมเป็นปัจจัยแก่ความดีได้  และไม่มีความชั่วใดที่ไม่เป็นปัจจัยให้แก่ความดี  ทำไมจึงเป็นเช่นนี้  อันนี้เป็นไปตามหลัก  เป็นเรื่องของสัจธรรมทีเดียว  หลักธรรมที่ว่า  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่วนั้น  เป็นเรื่องของหลักธรรมประเภทเหตุ  เช่น  อย่างเรื่องพืช  ปลูกพืชเม็ดมะม่วงก็ออกมาเป็นมะม่วง  แต่เรื่องของปัจจัย  ความดีเป็นปัจจัยให้แก่ความชั่วได้  เป็นปัจจัยหมายถึง  เป็นตัวสนับสนุน  คือ  ความชั่วนั้นมันมีอยู่  แต่ว่ามันคอยโอกาส  เมื่อมันได้โอกาสมันจึงแสดงผลออกมา


          จะยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า  ความดีเป็นปัจจัยแก่ความชั่วได้อย่างไร  เช่น  ผู้ที่ทำความดี  ได้รับคำยกย่องสรรเสริญ  ก็เกิดความพึงพอใจในคุณความดีของตนเอง  เกิดมานะแล้ว  อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกดูถูกผู้อื่นขึ้นก็ได้  อันนี้เรียกว่า  ความดีเป็นปัจจัยให้เกิดความชั่ว  หรือความชั่วเป็นปัจจัยให้เกิดความดี  เช่น  พระเจ้าอโศกมหาราชยกทัพไปรบราฆ่าฟัน  ฆ่าคนมากมาย  เสร็จแล้วความชั่วนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดความสำนึกสลดพระทัย  หันมาทำความดีทางศาสนาได้


          แม้แต่ความสลดใจที่ทำให้นึกถึงความดี  ก็เป็นไปตามหลักที่ว่า  ความชั่วเป็นปัจจัยแก่ความดี  หลักข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเช่นเดียวกัน  เพราะเราจะต้องรู้จักแยก  เช่น  เมื่อเราได้ประสบผลสำเร็จอันหนึ่ง  มันอาจจะเป็นการได้ผลสำเร็จที่ดีโดยวิธีการที่ชั่วก็ได้  ดังนี้  เป็นต้น  และถ้าหากเราไม่มีสติระมัดระวังแล้ว  ไม่รีบแก้ไขด้วยความตระหนักว่า  ผลสำเร็จที่ดีนี้เราได้มาด้วยวิธีการที่ชั่ว  หรือวิธีการที่ดีแต่มีส่วนชั่วแฝงเร้นอยู่ หรือเราได้อาศัยความชั่วนั้นเป็นโอกาส  ถ้าเราไม่ตระหนักแล้ว  เราอาจจะไม่คิดแก้ไข  ความชั่วนั้นก็อาจจะขยายตัวขึ้นมาเป็นโทษแก่เราก็ได้  นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน  อาตมาภาพไม่มีเวลาที่จะพูดขยายในเรื่องนี้ต่อไป  แต่ว่าอันนี้ก็คือเรื่องของการที่จะต้องใช้สติสัมปชัญญะให้มาก 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น