วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม8/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต)
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา


ตอน 1. ความนำ
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
ตอน 2. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ
ตอน 3. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก
ตอน 4. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ
ตอน 5. ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที
ตอน 6. ธรรมที่คงตัวกับธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้
ตอน 7. ธรรมที่เป็นกุศลกับอกุศลเป็นปัจจัยกันได้
ตอน 8. กิจกรรมสนองตัญหากับกิจกรรมทางปัญญา และบทส่งท้าย (หน้านี้)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 ๗.  กิจกรรมสนองตัณหา กับกิจกรรมทางปัญญา


          จะขอผ่านไปถึงข้อสุดท้าย  คือ  เรื่องกิจกรรมทางตัณหาและกิจกรรมทางปัญญา  อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักแยกเช่นเดียวกัน  เมื่อเรากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา  มันจะเป็นไปในรูปของกิจกรรมที่สนองตัณหา  หรือกิจกรรมในทางปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง  หลักข้อนี้ใช้วินิจฉัยการกระทำต่างๆ ทุกอย่าง  แม้กระทั่งปัญหาในปัจจุบันทีว่า  เราควรจะรับสิ่งที่เป็นผลผลิตของเทคโนโลยีหรือประยุกตวิทยาแค่ไหนเพียงไร  เมื่อวินิจฉัยตามหลักพุทธธรรมข้อนี้ก็หมายความว่า  เทคโนโลยีใดที่เป็นไปเพื่อกิจกรรมสนองตัณหา  คือ  เป็นการมุ่งที่จะปรนเปรอทางวัตถุ  มีวัตถุประสงค์ปรนเปรอกามสุข  เป็นเครื่องมือของความเห็นแก่ตัวแล้วก็ไม่ถูกต้อง  แต่ถ้าเป็นไปเพื่อกิจกรรมทางปัญญา  เป็นไปในทางช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เกิดความสะดวกสบาย  โดยช่วยในทางกิจหน้าที่  เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ร่วมกัน  ช่วยมนุษย์ในการแสวงหาชีวิตที่ดีงาม  ก็พิจารณารับได้


          เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  สรุปเข้าสู่หลักพุทธศาสนา  ที่เรียกว่า  'วิภัชชวาที'  คือ  ผู้ที่สอนจำแนกแยกแยะหรือวิเคราะห์แจกแจงออกไปในแต่ละส่วนแต่ละอย่าง  แม้แต่ในสิ่งที่รวมกัน  ปนกันอยู่  มีสิ่งใดถูกต้อง  สิ่งใดดี  จริงหรือไม่จริง  ต้องแยกออกไปได้ชัดเจน  ไม่ใช่ว่าคลุมๆ
+++++++++++++++++++++++++++++++++






          อาตมาภาพได้พูดเรื่องนี้มาพอสมควร  บางข้ออาจจะพิสดารไปบ้าง  บางข้ออาจจะรวบรัดไปบ้าง  แต่รวมแล้วทำให้เวลาเกินไปกว่าที่กำหนดไว้  อาตมาภาพได้แสดงธรรมกถาในเรื่องนี้ที่พอจะกล่าวได้ว่า  เป็นหลักเกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมมาเป็นเวลาพอสมควร  หากการแสดงปาฐกถามีประโยชน์อยู่บ้าง  พอจะถือได้ว่าเป็นความดี  ก็ขอร่วมอุทิศกุศลจากความดีและประโยชน์นี้แก่ท่านพระสารประเสริฐ  หรือนาคะประทีป  ซึ่งได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้แก่วงวิชาการในทางภาษา  ทั้งภาษาบาลีและภาษาที่เกี่ยวข้อง  ตลอดถึงวรรณกรรมในประเทศไทยเรานี้เป็นอย่างมาก


          ขออนุโมทนาและขออำนวยพรแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดงานนี้  ที่ได้มีกุศลเจตนามองเห็นคุณงามความดีของท่านพระสารประเสริฐ (นาคะประทีป)  กับทั้งท่านเสฐียรโกเศศ  ผู้ร่วมงานกับท่านนาคะประทีป  ซึ่งคณะกรรมการนี้  ได้เคยจัดงานอุทิศแด่ท่านเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว  การที่ท่านทั้งหลายมีกุศลเจตนาจัดงานเช่นนี้ขึ้น  ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งธรรมะ  คือ  กตัญญูกตเวทิตาส่วนหนึ่ง  แสดงว่าท่านทั้งหลายมีจิตใจละเอียดอ่อนและประกอบด้วยสติปัญญา  สามารถมองเห็นคุณค่าแห่งการกระทำของผู้อื่นที่ดีงามและเป็นประโยชน์  แล้วช่วยขวนขวายเกื้อหนุนให้ผลงานที่เกิดจาการกระทำเหล่านั้น  ดำรงอยู่ยั่งยืน  อำนวยประโยชน์แก่หมู่ชนกว้างขวางยิ่งขึ้นไป  ขออำนาจคุณพระรัตนตรัยและกุศลเจตนานั้น  จงเป็นพลวปัจจัยให้ท่านทั้งหลายประสบจตุรพิธพร  และบรรลุผลสำเร็จอันชอบธรรม  สมความปรารถนาทุกประการ
_______________________________________________


หมายเหตุ:     
พิมพ์ครั้งแรกในจุลสารมูลนิธิโกมลคีมทอง  พ.ศ.๒๕๑๗  
ครั้งที่สองใน  'ปรัชญาการศึกษา' สำนักพิมพ์เคล็ดไทย  จัดพิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๘  
ครั้งที่สามใน  'พุทธศาสนากับสังคมไทย'  สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง  จัดพิมพ์  พ.ศ. ๒๕๒๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น