วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม3/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต)
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา


ตอน 1. ความนำ
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
ตอน 2. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ
ตอน 3. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก (หน้านี้)
ตอน 4. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ
ตอน 5. ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที
ตอน 6. ธรรมที่คงตัวกับธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 

๒.  ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก 


          เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมข้อที่สองนี้  มีส่วนพัวพันถึงธรรมะในแง่ที่เป็นอุปกรณ์ด้วย  เกณฑ์ข้อที่สองนี้ก็คือ  ลักษณะที่นิยมเรียกในภาษาสมัยปัจจุบันว่า  แง่ลบและแง่บวก  หรือจะใช้ภาษาทางพระพุทธศาสนาว่า  หลักธรรมต่างๆ  มีทั้งแง่ปหาน  และแง่ภาวนา  เพื่อความสะดวกจะใช้ภาษาของคนสมัยใหม่คือแง่ลบและแง่บวก


          หลักธรรมต่างๆ  มีความหมายทั้งแง่ลบและแง่บวก  ที่เป็นเช่นนั้น  เพราะมันสัมพันธ์กับการเป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย  ทำให้มันมีลักษณะเป็น  ๒  ด้าน  คือ  ในแง่ลบมีความหมายเป็นอุปกรณ์  หรือเครื่องมือสำหรับกำจัดสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหรือไม่ต้องการ  และในแง่บวกก็คือว่า  มันจะช่วยให้เราเข้าไปสู่จุดหมายหรือใกล้เข้าไปสู่จุดหมายได้มากขึ้น  โดยนัยนี้  ธรรมะแต่ละข้อ  ก็จะมีทั้งแง่ลบและแง่บวกอยู่ในตัวของมันเอง  ทีนี้  การสอนในปัจจุบันนี้อาจเป็นไปได้ว่า  เราเน้นในแง่ลบมากเกินไป  จนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น


          อย่างพวกฝรั่งบางคนได้เขียนหนังสือไว้แสดงให้เห็นว่า  หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามีความหมายในทางลบอย่างเดียว  เช่น  ให้ปฏิบัติศีลงดเว้นจากการเบียดเบียน  แล้วก็ไม่แนะนำว่า  ควรทำอย่างไรต่อไปเป็นต้น  อันนี้อาจจะเป็นความบกพร่องของเราผสมกัน  คือ  เราเองศึกษาและสั่งสอนพุทธธรรมไม่ครบทุกแง่ทุกมุม  เช่น  เวลาสอนเรื่องฆราวาสธรรม  มีธรรมะข้อหนึ่งเรียกว่า  'ทมะ'  เราก็สอนว่า  ทมะนั้นได้แก่  การข่มใจ  เมื่อได้ยินได้ฟังคำที่จะทำให้เกิดความโกรธ  ความเกลียด  เราก็ข่มใจหักห้ามใจได้  ไม่ให้โกรธ  ไม่ให้เกลียด  เมื่อสอนเรื่องอุเบกขา  เราก็สอนว่า  เฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย



ความหมาย  ๒  แง่  ของสันโดษ

          แม้แต่เรื่อง  'สันโดษ' ก็เช่นเดียวกัน  อาตมาภาพพูดเรื่องสันโดษมาแล้ว  ก็จะลองเอาเรื่องสันโดษมาพูดอีก  ในแง่ที่ว่าจะมีความหมายทั้งแง่ลบแง่บวกอย่างไร


          ความหมายในแง่ลบของสันโดษก็คือ  การช่วยกำจัดความโลภ  ทำให้ไม่เกิดความรุ่มร้อนกระวนกระวายใจในการที่ว่า  ได้ไม่รู้จักพอนั้นด้วย  ทีนี้  ในแง่บวก  สันโดษก็คือช่วยให้เรามีเวลามีโอกาสและพลังงานสำหรับทำกิจทำหน้าที่มากขึ้น  และมีความสุขความพอใจ  ซึ่งสืบเนื่องมาจากความภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง  สำหรับพระภิกษุความหมายอาจจะเน้นจำกัดลงไปอีก  คือ  ในแง่ลบ  หมายถึงการตัดความกระวนกระวายใจหรือความกังวล  ในการที่จะแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอตนเอง


          ในแง่บวกหมายถึงว่า  เมื่อจะบำเพ็ญสมณธรรมก็ดี  หรือเมื่อจะทำตามอุดมคติในการประกาศพระพุทธศาสนา  จาริกไปในสถานที่ต่างๆ  เพื่อบำเพ็ญประโยชน์สั่งสอนประชาชนก็ดี  ก็สำเร็จโดยง่ายทำได้ปลอดโปร่ง  พูดอย่างในภาษาสมัยใหม่  ก็คือ ทำให้เกิดความคล่องตัว




ความหมาย  ๒  แง่  ของศีล

           ถึงหลักธรรมอื่นๆ  ก็มีความหมายทั้ง  ๒  แง่เหมือนกัน  อย่างเช่น  'ศีล'    ศีลนั้นตามแบบเดิมท่านวางไว้เป็น  ๒  ตอน  ศีลเต็มรูปอย่างที่ว่ามาในกรรมบท  มี  ๒  ตอน  ตอนต้นบอกว่า  ละปาณาติบาต  ละการฆ่าเบียดเบียนสัตว์  แล้วตอนท้ายจะมีข้อความตามบาลีว่า  สพฺพปาณภูตหิตานุกมฺปี  ซึ่งแปลว่า  อนุเคราะห์ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง  อันนี้เป็นแง่บวก  แต่เวลาที่ท่านเขียนเป็นข้อสั้นๆ  ท่านยกมาแต่หัวข้อตอนต้นซึ่งเป็นแง่ลบมาตั้ง  ผู้ที่ศึกษาไม่ได้ศึกษาโดยตลอดก็เข้าใจว่า  ศีลนั้นมีแง่ลบอย่างเดียว  จนกระทั่งสมัยหลังนี้เกิดมีวิวัฒนาการขั้นมาในสายของไทยเรา  โดยเฉพาะมีการแยกออกเป็น  ๒  อย่าง  เป็นศีลอย่างหนึ่ง  ธรรมอย่างหนึ่ง  จนถึงกับวางเป็นหลักสูตรแบบเรียน  เรียกว่า  วิชาศีลธรรม  ความจริง  ศีลก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมนั่นเอง




ความหมาย  ๒  แง่ของ  ไตรลักษณ์

          ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง  คือ  ไตรลักษณ์  ไตรลักษณ์ก็มีความหมายทั้งในแง่ลบและแง่บวก  เช่น  หลักอนิจจัง     หลักอนิจจัง  ความหมายไม่เที่ยงนั้น  เป็นเพียงการแสดงสภาวะของสิ่งทั้งหลาย  เวลาจะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา  เรามักสอนกันในแง่ที่ว่าจะช่วยปลอบใจให้หายความทุกข์โศก  เช่น  เมื่อเกิดความพลัดพรากสูญเสียขึ้น  เราจะปลอบใจกันว่า  อันนี้อนิจจังไม่เที่ยง  เมื่อเกิดขึ้นแล้ว  ก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปเป็นธรรมดา  จะเศร้าโศกไปก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด  นี่ก็เป็นลักษณะที่ดี  คือ  ช่วยหยุดยั้งความซุบโทรมทางจิต  และการกระทำที่จะทำให้สูญเสียพลังงานไปเปล่า  แต่เรามักจะหยุดกันแค่นี้  ไมได้นึกถึงขั้นต่อไปว่า  ในแง่บวกจะทำอย่างไร  บางคราวก็เลยทำให้เกิดผลเสีย  คือ  ปล่อยสิ่งต่างๆ  ไปตามเรื่องตามราว  ไม่คิดปรับปรุง  จึงต้องคำนึงถึงแง่บวกด้วย


          ในแง่บวกอนิจจังก็สอนให้ปรารภต่อไปว่า  การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปนั้น  มันจะเปลี่ยนแปลงตามเหตุ  ตามปัจจัย  หาได้เปลี่ยนแปลงไปลายๆ ไม่   ในเมื่อเราต้องการผลที่ดี  เราก็ต้องทำเหตุทำปัจจัยเพื่อให้ได้ผลที่ดีนั้น  เมื่อเราไม่ต้องการผลที่ไม่ดี  เราก็ต้องรู้ตามความจริงว่า  อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยนำไปสู่ผลที่ไม่ดี  แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงแก้ไขเหตุปัจจัยที่ไม่ดีนั้นเสีย  พระพุทธศาสนาถือหลักว่า  มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้  อันนี้ก็เข้ากับหลักอนิจจังนั่นเอง  และฝึกได้ถึงขั้นยอดเยี่ยมประเสริฐเลิศกว่าเทวดาและพรหมทั้งหลาย  แม้แต่เทวดาและพรหมก็ต้องบูชา  อันนี้ก็เป็นไปตามหลักอนิจจังเหมือนกัน



ความหมาย  ๒  แง่ของ  ทมะ

          ขอยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่งคือ  ทมะ  ที่พูดถึงเมื่อกี้นี้  ทมะที่ชอบแปลกันว่า  ความข่มใจนั้น  ในแง่ลบก็เหมือนอย่างที่พูดกันบ่อยๆ  ตามตัวอย่างว่า  ได้ยินคำที่จะทำให้เกิดความโกรธก็หักใจเสียได้  ไม่โกรธ  เป็นต้น  เราชอบมองความหมายของทมะในแง่ลบก็เพราะไปแปลว่าความข่มใจ  ถ้าแปลตามศัพท์แล้ว  ควรแปลว่าการฝึกหัดหรือการดัดจึงจะถูก  ถ้าแปลตรงตามศัพท์แล้ว  ก็จะมองความหมายในแง่บวกง่ายขึ้น

          ทีนี้  แง่บวกจะมีความหมายอย่างไร  ในแง่บวกก็คือสามารถบังคับควบคุมจิตใจของตนเองให้ทำได้  ในสิ่งที่ปัญญาบอกให้รู้ว่าควรทำ  เมื่อปัญญาบอกให้รู้ว่า  อันนนี้ถูกต้อง  เป็นไปโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว  เราสามารถควบคุมบังคับตนเองให้ทำในสิ่งนั้นได้  อันนี้ชื่อว่าเป็นทมะเหมือนกัน  และเป็นธรรมะที่สำคัญมากในการฝึกหัดดัดนิสัยตัวและปรับปรุงตัว

          ขอยกตัวอย่างในทางปฏิบัติว่า  ทมะนั้นมีคุณค่าในทางบวกทางลบอย่างไร  เช่นว่า  เด็กไปยืนอยู่ที่ถนนรับประทานขนม  หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อยู่ในกระดาษห่อหรือถุงพลาสติก  เมื่อแกรับประทานอาหารเสร็จแล้ว  ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องทิ้งถุงพลาสติกหรือกระดาษที่ห่อของนั้น  เมื่อจะทิ้งนั้น  วิธีง่ายที่สุดก็คือทิ้งตรงที่ยืนนั้น  ยืนที่ใดก็ทิ้งที่นั้น  อันนี้เป็นความสะดวกและเป็นความปรารถนาที่ใกล้ตัวที่สุด  แต่ว่าเมื่อเด็กจะทิ้งนั้น  ถ้าเขามีความรับผิดชอบอยู่บ้าง  เขาจะนึกขึ้นมาได้ว่า  การทิ้ง  ณ  ที่นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง  ที่จะให้ถูกต้องนั้นก็คือว่า  ทิ้งที่ถังขยะซึ่งอาจจะอยู่ห่างจากตัวเขาถึง  ๑๐  เมตรก็ได้  เมื่อเขารู้อย่างนี้แล้ว  ก็ถึงตอนสำคัญที่ว่าเขาจะพ่ายแพ้แก่อำนาจกิเลสหรือชนะกิเลส  ถ้าหากว่าปัญญาที่พิจารณาเหตุผลได้บอกเขาแล้วว่า  ที่ถูกต้องไปทิ้งในที่ทิ้งขยะที่จัดไว้ให้แล้ว  ถ้าเขามีทมะ  เขาจะสามารถบังคับตัวเองให้เดินไปทิ้งที่ทิ้งขยะได้  นี้คือทมะที่ใช้ในแง่บวก  คือ  การบังคับควบคุมตนเองได้  ให้ทำในสิ่งที่ปัญญาบอกแล้วว่า  เป็นการถูกต้องด้วยเหตุผล  ถ้าเราไม่มีทมะเราก็ไม่สามารถควบคุมตนให้อยู่ในเหตุผล*    เราก็พ่ายแพ้ต่อกิเลสคือความเกียจคร้าน  ปรารถนาความสะดวกเฉพาะ  ได้แก่  ความเห็นแก่ตัวนั่นเอง  อันนี้เป็นตัวอย่างในการมองธรรมะให้ครบ  ทั้งแง่ลบแง่บวก


=================================
เชิงอรรถ
*  อรรถกถาก็ยังกำกับความหมายไว้ว่า  ทมะ  เป็นเรื่องของปัญญา
(ดู  สํ.อ.  ๑/๓๙๑;  สุตฺต.อ  ๑/๓๒๓)

1 ความคิดเห็น: