วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม2/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต)
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา

ตอน 1. ความนำ
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
ตอน 2. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ  (หน้านี้)
ตอน 3. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก
ตอน 4. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ
ตอน 5. ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที
ตอน 6. ธรรมที่คงตัวกับธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

๑.  ธรรมเป็นอุปกรณ์เปรียบเหมือนยานพาหนะ


          ข้อที่หนึ่ง  ในการศึกษาพุทธธรรม  จะต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า  หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีความหมายเหมือนกับอุปกรณ์หรือยานพาหนะ   สำหรับนำไปสู่จุดหมาย  นี้เป็นการพูดตามพุทธวจนะที่มีอยู่ว่า  ธรรมทั้งหลายเปรียบเสมือนแพ  แพนั้นมีไว้สำหรับใช้ข้ามฟาก  ไม่ใช่สำหรับยึดถือเกาะติดไว้  พุทธพจน์นี้ควรจะตระหนักกันให้มากในการที่จะศึกษาหลักธรรมต่างๆ     
          จากพุทธพจน์นี้ เราตีความหมายได้ ๒ แง่ด้วยกัน


         ประการที่  ๑  ในแง่ของคุณค่าและความหมาย  จะต้องเข้าใจว่า  คุณค่าของหลักธรรมต่างๆ นั้นอยู่ที่ความเป็นอุปกรณ์  คือเป็นเครื่องมือหรือสิ่งสำหรับใช้ประโยชน์

          ประการที่  ๒  ความเป็นอุปกรณ์นั้น  จะต้องสัมพันธ์กับจุดหมายในการที่จะนำธรรมต่างๆ มาใช้  จากนี้จะเกิดความเข้าใจชัดและกว้างออกไปในแง่การปฏิบัติว่า  การปฏิบัติต่อธรรมะทั้งหลายนั้น  ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง  ก็คือการที่จะต้องใช้ประโยชน์  ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ผิดก็คือการยึดถือเกาะติดในธรรมะนั้น  โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร  เริ่มตั้งแต่การนำมาถกเถียงกันเปล่าๆ  การปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย  ไร้จุดหมาย  ไร้ความสัมพันธ์  จนถึงการยึดถือในข้อปฏิบัตินั้นๆ ด้วยโมหะอย่างเหนียวแน่น


          ที่ว่าธรรมะเป็นอุปกรณ์นำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นสำคัญอย่างไร  ธรรมะทั้งปวงมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน  ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความมุ่งหมายของพุทธธรรม  ธรรมแต่ละหัวข้อย่อมมีคุณค่าในตัวของมันเอง  ตามตำแหน่งที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้น  คือมีคุณค่าตามตำแหน่งที่มันสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ ในกระบวนการปฏิบัติ  การปฏิบัติธรรรมเป็นการปฏิบัติต่อเนื่อง  ท่านเปรียบไว้ว่า  เหมือนกับการไปสู่จุดหมายแห่งหนึ่งด้วยรถเจ็ดผลัดเป็นต้น


         อันนี้มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก  หมายความว่า  การปฏิบัติธรรมแต่ละข้อๆ นั้น  มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ ต่อไป  และจุดหมายในที่นี้ต้องแน่นอนชัดเจน  ชี้เฉพาะได้  ไม่ใช่จุหมายที่พร่าๆ    ใครๆ อาจจะบอกเมื่อปฏิบัติธรรมสักข้อหนึ่งว่า  ปฏิบัติธรรมข้อนั้นเพื่อพระนิพพาน  อย่างนี้ใครๆ ก็พูดได้  เพราะเป็นกำปั้นทุบดิน  แต่เป็นการตั้งเป้าหมายที่พร่าเกินไป  ความจริงหลักธรรมแต่ละข้อย่อมมีจุดหมายของมันโดยเฉพาะ  แต่ละข้อแต่ละตอนไปว่า  ธรรมะข้อนี้เป็นไปเพื่ออะไร  เช่น  ถ้าจะปฏิบัติศีล  ก็มีข้อมุ่งหมายว่าศีลนั้นเพื่ออะไร



          ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติธรรมโดยมีความมุ่งหมายแล้ว  การปฏิบัติธรรมะก็เป็นไปโดยเลื่อนลอย  ขาดความสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ  จะเห็นได้ง่ายๆ อีกอย่างหนึ่ง  ยกธรรมะที่เกี่ยวข้องกับชาวโลกมากหน่อย  หรือพูดถึงกันบ่อยๆ  คือ   ข้อสันโดษนั่นเอง  สันโดษเป็นธรรมะที่ปฏิบัติเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร  สำหรับคนทั่วไปถ้าไม่ตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติสันโดษ  ก็จะเห็นชัดเจนว่าเป็นการปฏิบัติลอยๆ  ไม่สัมพันธ์กับหลักธรรมข้ออื่นๆ  เขาอาจจะสร้างภาพที่ผิดพลาดขึ้นมา  บอกตัวเองหรือทำให้คนอื่นเข้าใจเป็นภาพที่เลือนลาง  คล้ายกับจะให้เห็นว่าเป็นการปฏิบัติอย่างมีจุดมุ่งหมาย  โดยเฉพาะมักจะให้เห็นว่าการปฏิบัติธรรมข้อสันโดษนั้น  ก็เพื่อให้มีความสุข  จากนั้นก็อาจจะสร้างภาพต่อไปว่าคนที่มีสันโดษ  ถ้าเป็นพระก็เป็นพระที่เรียบร้อย เฉยๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครทำนองนี้  ผลที่สุด  ในแง่หนึ่ง  ก็ทำให้ธรรมะขาดชีวิตชีวา  แต่ข้อสำคัญก็คือ  ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการหรือที่สมควรจะได้


          ทีนี้  สันโดษมีความมุ่งหมายอย่างไร  ท่านแสดงไว้ในที่ทุกแห่ง  แต่เราอาจจะไม่เฉลียวใจ  เช่น  สำหรับพระภิกษุ  คำแสดงความหมายสันโดษของพระพุทธเจ้าบอกว่า  พระภิกษุสันโดษในปัจจัย ๔  คือ  จีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  ศิลานปัจจัย  เภสัชบริชาร  จะไปไหนก็ไปได้ง่ายๆ เอง เหมือนกับนกที่มีแต่ปีกบินไป


          อันนี้มีความหมายส่ออยู่ในตัว   ถึงการปฏิบัติสันโดษอย่างมีความมุ่งหมาย  มีความมุ่งหมายอย่างไร  ก็หมายความว่า  ในกรณีนี้  พระภิกษุนั้น  เมื่อมีความสันโดษแล้ว  ก็ไม่มีความห่วงกังวลในทางวัตถุ  จะไปไหนต่อไหนก็ไปได้สะดวก  เหมือนนกที่มีแต่ปีกบินไป  แล้วจะเข้ากับจุดหมายอย่างไร เข้าในแง่อุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระสาวกไว้ตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียวว่า  ให้ภิกษุทั้งหลายจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มนุษย์ทั้งหลาย  พอมีหลักธรรมเรื่องสันโดษเข้ามา  มันก็เข้ากับจุดมุ่งหมายตามอุดมคตินี้ว่า  เมื่อพระภิกษุมีความสันโดษ  ไม่มีความห่วงกังวลในทางวัตถุแล้ว  ท่านจะไปทำหน้าที่ประกาศพระศาสนา  ท่านจะไปไหนมาไหนก็สะดวกสบายทำหน้าที่ได้เต็มที  ได้ใจความว่าไม่มีห่วงกังวลในทางวัตถุ  ทุ่มเทเวลาและกำลังงานให้แก่การบำเพ็ญสมณธรรม  และปฏิบัติศาสนกิจได้เต็มที่


          นี้ก็เป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่งของการปฏิบัติธรรมอย่างมีจุดมุ่งหมาย  ไม่ใช่การปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย  ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็จะได้เพียงการสร้างภาพว่า  คนสันโดษเป็นแต่เพียงผู้ที่อยู่เงียบๆ ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร  ผลที่สุด  ธรรมต่างๆ ก็จะขาดลอยจากัน  ไม่มีชีวิตชีวา  ขาดการเชื่อม  ขาดการประสาน  ที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป  นี้เป็นแง่ที่หนึ่ง


          นอกจากนั้น  เมื่อเข้าใจความหมายของสันโดษว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างใดแล้ว  เรายังจะรู้อีกว่า  ทำไมหลักธรรมข้อสันโดษจึงไม่ขัดกับหลักธรรมข้อไม่สันโดษ  เพราะความไม่สันโดษเป็นหลักธรรมสำคัญอันหนึ่งของทางพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าทรงเน้นไว้ว่า  ที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น  เพราะพระองค์ไม่ทรงสันโดษ  อาจจะทำให้เกิดความสงสัยว่า  เอ๊ะ...ทำไมจึงสอนความไม่สันโดษด้วย  ดูเป็นการขัดกันไป  ความจริงถ้าเรารู้หลักธรรมแต่ละข้อมีจุดมุ่งหมายอย่างไรแล้ว  เราจะเห็นความไม่ขัดกันในทันที  สำหรับพระภิกษุนั้น  เพราะว่ามีความสันโดษในปัจจัย ๔  ท่านก็หมดความกังวลที่จะหาความเพลิดเพลิน  ความปรนเปรอทางวัตถุ  พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนธรรมข้อไม่สันโดษไว้  บอกว่าไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย  พระองค์ตรัสไว้ทีเดียวว่า  ที่ได้ตรัสรู้นั้น  ทรงมองเห็นคุณค่าของธรรมะ  ๒  ประการ  คือ  ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย  และการทำความเพียรอย่างไม่รู้จักย่อท้อ


          จากพุทธพจน์นี้จะเห็นว่า  ความไม่สันโดษมีขอบเขตของมัน  คือ  ใช้ในกุศลธรรมอันได้แก่  คุณธรรม  และการปฏิบัติกิจที่ดีงาม  พระพุทธเจ้าไม่ได้เคยทรงหยุดยั้ง  ไม่เคยพอพระทัยเลยในผลสำเร็จของพระองค์  พระองค์เสด็จไปเรียน  ไปปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักดาบส  ฤาษี  หรือพวกโยคีต่างๆ  เรียนจบและแสดงความสามารถจนกระทั่้งอาจารย์พอใจ  เชิญให้อยู่ร่วมสำนักเพื่อให้ทำการสอนต่อไป  พระองค์ก็หาได้พอพระทัยไม่  ยังไม่สำเร็จผลที่มุ่งหมาย  พระองค์จึงได้ออกจากสำนักดาบสเหล่านั้นไป  แล้วแสวงหาธรรมด้วยพระองค์เอง  จนสำเร็จ


          หลักธรรมทั้ง  ๒  ประการ  คือ  สันโดษก็ดี  ไม่สันโดษก็ดี  ย่อมมีความประสานกัน  มิได้ขัดกันเลย  มีแต่ส่งเสริมกันด้วยซ้ำ  เพราะเมื่อสันโดษแล้ว  พระภิกษุนั้นก็ตัดห่วงกังวลในทางที่จะปรนเปรอตนเองในทางวัตถุได้  สามารถบำเพ็ญความไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่  คือ  มุ่งมั่นในการปฏิบัติธํรรม  พยายามให้ถึงผลสำเร็จที่มุ่งหมาย  เพราะฉะนั้น  อาศัยหลักธรรมข้อสันโดษ  เราก็ตัดความโลภ  ความห่วงกังวล  ที่จะเหนี่ยวรั้งขัดขวางเราไม่ให้ทำกิจหน้าที่ของตนได้เต็มที่  เป็นการทำตัวให้พร้อม  และคล่องตัว  เมื่อมีความพร้อมคล่องตัวดีแล้ว  ก็ปฏิบัติธรรมข้อไม่สันโดษ  หลักธรรมข้อไม่สันโดษนั้น  ก็นำมาใช้ในการสร้างนิสัยใฝ่สัมฤทธิ์และการแสวงหาความดีเลิสต่อไป  อันนี้จึงเป็นหลักธรรมที่ประสานกลมกลืนกัน  นี้เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่ง  จะขอผ่านไปก่อนสู่หลักเกณฑ์ประการที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น