วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม4/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต)
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา


ตอน 1. ความนำ
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
ตอน 2. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ
ตอน 3. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก
ตอน 4. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ (หน้านี้)
ตอน 5. ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที
ตอน 6. ธรรมที่คงตัวกับธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 ๓.  ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ


          อาตมาจะขอผ่านต่อไปอีกหลักหนึ่ง  ในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของธรรมะ  อันนี้คือเรื่องสาระและรูปแบบ  สาระหมายถึงเนื้อหา  หรือตัวแท้ตัวจริงของหลักธรรม  ส่วนรูปแบบนั้นก็คือโครงร่างสำหรับยึด  หรือให้เนื้อหาสาระไปเกาะตัวอยู่  ตลอดถึงเปลือกสำหรับหุ้มให้หลักหรือเนื้อแท้นั้นคงอยู่ได้  ช่วยให้เนื้อหาสาระคงตัวอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน  ทั้งสองสิ่งนี้สำคัญทั้งคู่  โดยปรกตินั้นคนจะคิดเนื้อหาขึ้นก่อน  พอคิดเนื้อหาสาระขึ้นแล้วก็ต้องสร้างรูปแบบขึ้นมา  เพื่อช่วยยึดเอาสาระไว้ให้อยู่ในรูปในแบบที่ต้องการ  แต่เนื้อหาสาระนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว  มันจะเจริญขึ้นไประยะหนึ่ง  เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว  ความคิดในเรื่องเนื้อหาสาระจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วจะหยุด  เมื่อเนื้อหาสาระหยุดแล้ว  รูปแบบนั้นจะเกาะกุมตัวกันเข้าจนเป็นรูปร่างที่แน่นอน  พอได้รูปร่างแน่นอนแล้ว  รูปแบบมักจะกลายเป็นสิ่งแข็งทื่อ  แล้วก็ไม่สะดวกแก่การปรับตัว  เมื่อถึงตอนนั้นรูปแบบก็มักจะมีทั้งคุณและโทษ  นอกจากจะบรรจุเอาเนื้อหาไว้แล้ว  จะมีโทษโดยเป็นกรอบกั้นไม่ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป  สิ่งทั้งหลายมักจะเป็นไปอย่างนี้แทบทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน  ระบอบ  ระบบ  พิธีกรรม  หรือแม้แต่ในรูปของความคิดก็ตาม  หลักธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยกเว้นในข้อนี้


          ขอยกตัวอย่างในเรื่องพิธีกรรม  เพื่อจะให้เห็นความหมายง่ายๆ  พิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนามีมากมาย  พิธีกรรมส่วนหนึ่งเรียกว่า  'สังฆกรรม'  คือ  กิจที่ทำโดยที่ประชุมสงฆ์  จะนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อชี้แจงในเรื่องนี้เฉพาะเรื่องการอุปสมบท  พิธีอุปสมบทนั้น  เป็นพิธีที่รู้จักและเข้าใจกันทั่่วไป  เห็นง่าย  เพราะฉะนั้น  อาตมาก็จะใช้เป็นเครื่องมืออธิบายว่า  เนื้อหากับรูปแบบต่างกันอย่างไร  แล้วจะเกิดการขัดกันหรือมีโทษมีภัยแก่กันหรือไม่  พิธีอุปสมบทมีเนื้อหาอย่างไร  เนื้อหาของมันหรือสาระสำคัญ  ก็คือ  เป็นวิธีการที่จะรับบุคคลเข้าสู่ชุมนุมสงฆ์อย่างมีระเบียบแบบแผนรัดกุมที่สุด  ตามหลักการที่ถือสงฆ์เป็นใหญ่  โดยให้อำนาจเป็นของส่วนรวม  เมื่อมีสาระเช่นนี้ก็ต้องสร้างรูปแบบขึ้นมา  อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าพิธีอุปสมบท  รูปแบบที่มีมากับเนื้อหาเดิมก็คือว่า  เพื่อจะให้การับบุคคลเข้ามาสู่คณะสงฆ์เป็นไปอย่างรัดกุมที่สุด  ก็ดำเนินการเป็นขั้นๆ


          ขั้นเริ่มแรกก็คือมีอุปัชฌาย์  อุปัชฌาย์ก็คือ  ผู้รับบุคคลเข้ามาเสนอต่อสงฆ์  และรับรองแก่สงฆ์ว่า  จะช่วยปกครองดูแลความประพฤติ  ฝึกอบรม  และให้การศึกษาชั่วระยะหนึ่ง  อย่างน้อย  ๕  ปี  จนกว่าบุคคลผู้นั้นจะปกครองตนได้  เมื่ออุปัชฌาย์รับบุคคลเข้ามาและรับรองจะทำหน้าที่อย่างนี้  นำบุคคลนั้นเข้าเสนอต่อสงฆ์  ก็มีการประชุมสงฆ์  พระภิกษุมีสิทธิในบริเวณนั้นก็เข้ามาประชุมกัน  บุคคลผู้นั้นก็ขออนุญาตต่อพระสงฆ์  คือ  ที่ประชุมนั้นว่า  จะอุปสมบท  โดยมีท่านผู้นั้นเป็นอุปัชฌาย์  คล้ายๆ เป็นผู้รับประกันและรับรองที่จะดูแลความประพฤติต่อไป  สงฆ์ก็จะพิจารณะคุณสมบัติของบุคคลนั้นว่า  สมควรที่จะรับเข้าสู่หมู่คณะหรือไม่  เพื่อการนี้  ในที่ประชุมนั้น  ก็จะมีท่านผู้หนึ่งที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจในทางพระวินัยขออนุญาตต่อสงฆ์  ทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามขั้น  ซึ่งเรียกว่า  'คู่สวด'  ในปัจจุบัน  เมื่อสอบถามแล้วก็แจ้งต่อสงฆ์ว่า  เท่าที่ได้สอบถามมา  เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลผู้นี้แล้วได้ความอย่างนั้นๆ  สงฆ์คือที่ประชุมนั้นจะเห็นเป็นอย่างไร  สงฆ์ก็พิจารณาเมื่อเห็นว่าถูกต้อง  มีคุณสมบัติครบถ้วนสมควรจะรับได้ก็ให้มติเป็นเอกฉันท์  การอุปสมบทก็เกิดขึ้น


          อันนี้คือรูปแบบที่คุมสาระเอาไว้  ทีนี้  รูปแบบเช่นนี้ก็มีมาตามลำดับกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน  ปัญหาก็มีว่า  รูปแบบยังคงอยู่จริง  แต่สาระที่อยู่ในรูปแบบนั้น  ยังคงอยู่หรือไม่  ถ้ายังคงอยู่  ยังอยู่เต็มตามรูปแบบหรือไม่  ตลอดถึงว่ามีความเข้าใจหรือตระหนักในสาระนั้นๆ กันหรือไม่  สำหรับบางท่านหรือแม้ในหมู่พระภิกษุสงฆ์เอง  ก็อาจมีผู้ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของพิธีอุปสมบทนี้  เมื่อเห็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่อาจจะเข้าใจไปว่า  เป็นการนำบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นคฤหัสถ์  เข้ามาสู่พิธีแล้วพระก็สวด  คงจะเป็นการเสกกัน  เสกไปเสกมา  บุคคลนั้นก็กลายจากคฤหัสถ์เป็นพระไป  อะไรทำนองนั้น  อันนี้ก็คือรูปแบบที่มีมานั้นอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจไขว้เขวขึ้นได้  นี้เป็นตัวอย่างในเรื่องพิธีกรรม


          แม้เรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน  สถาบันต่างๆ  ระบบระบอบอะไรต่างๆ นี้จะมีมาใน ๒ ลักษณะ  คือ  รูปแบบกับเนื้อหาสาระ  ถ้าหากไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาสาระอย่างแท้จริงแล้ว  คนก็จะติดในรูปแบบเข้าใจว่า  เมื่อมีระบอบอย่างนั้นแล้ว  สิ่งที่ต้องการจะสำเร็จสมประสงค์ทันที  ความเข้าใจอย่างนี้  ก็คงจะไม่ต่างจากความเข้าใจของคนโบราณ  ที่เราเคยกล่าวหาเขาว่า  เป็นผู้งมงาย  อย่างเช่นในสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติ  พระองค์ได้ทรงเลิกพิธีกรรมของพราหมณ์เป็นอันมาก  ทรงติเตียนว่าเป็นเรื่องไม่ประกอบด้วยสาระ  ไม่มีเหตุผล  เช่น  พิธีบูชายัญ  ทำให้งมงายจนยึดถือว่าเมื่อทำตามแบบแผนครบถ้วนตามข้อกำหนดอย่างนั้นๆ แล้ว  ผลสำเร็จที่ต้องการก็จะมีขึ้นเอง  โดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย  นี้ก็คือเรื่องของพิธีกรรมหรือความติดในรูปแบบ  แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน  ถ้าเราติดอยู่ในรูปแบบต่างๆ จะเป็นสถาบันหรืออะไรก็ตาม  เพียงเข้าใจว่าถ้ามีสิ่งนั้นๆ  แล้วจะได้สำเร็จสมประสงค์ขึ้นมา  ความเข้าใจยึดถือแบบนี้  ก็คงจะไม่ต่างกับความเข้าใจของคนสมัยโบราณ  ที่เราประณามว่าเป็นคนงมงายนั้นแต่ประการใดเลย  

       
          เรื่องของรูปแบบในแง่ของสถาบัน  ระบบ  ระบอบอะไรนี้  อาตมภาพจะขอผ่านไปก่อน  จะผ่านมาถึงในแง่ของความคิด  ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรม  ก็มีรูปแบบเช่นเดียวกัน  ยกตัวอย่างง่ายๆ  เช่น  คำว่า  'บุญ'  นี้  ก็มีทั้งเนื้อหาและรูปแบบ  เมื่อพูดถึงเรื่องบุญ  คนจำนวนมากทีเดียว  อาจจะนึกถึงว่าเป็นสภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง  มีอำนาจพิเศษเสมือนหนึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เกิดผลดีได้  บางคนอาจจะถึงกับเอาความหมายนี้ไปสัมพันธ์กับการไปเกิดบนสวรรค์  อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถือเป็นรูปแบบไปแล้ว  จากรูปแบบความคิดก็จะขยายต่อไปสู่รูปแบบของการกระทำ


          เมื่อพูดว่าทำบุญ  คนจำนวนไม่น้อยก็จะคิดถึงรูปแบบที่ว่าเอาอาหารไปถวายพระที่วัดในพิธีที่เรียกว่า  'ทำบุญ'  หรืออาจคิดเลยไปอีกกระทั่งว่า  ถ้าหากจะทำบุญให้ได้ผลมากก็ต้องสร้างวัดวาอาราม  สร้างโบสถ์สร้างวิหาร  เป็นต้น  เมื่อสร้างโบสถ์สร้างวิหารแล้วก็ถือว่าได้กุศลแรง  อันนี้เป็นวิวัฒนาการในการสร้างรูปแบบเสียแล้ว  ฝ่ายหนึ่งก็จะเกิดความยึดติดในรูปแบบเช่นนี้  เพราะถือว่าถาจะทำบุญให้ได้ผลมาก  ก็จะไปสัมพันธ์กับความหมายที่ว่าจะได้ไปเกิดใหม่มีทรัพย์สินเงินทองมาก  หรือไปเกิดในสวรรค์  ก็ต้องสร้างโบสถ์วิหาร  สร้างศาลาการเปรียญในวัด  อีกฝ่ายหนึ่ง  ก็เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร  ในแง่ของสังคมหรือในแง่ของชีวิตที่จะต้องเป็นอยู่จริงในปัจจุบัน  ก็เลยเกิดความขัดแย้งกันขึ้น  นี่ก็เพราะไม่เข้าใจในเรื่องสาระและรูปแบบนั่นเอง  ถ้าเข้าใจเรื่องนี้แล้ว  ก็จะมีหนทางนำไปสู่การประสานกันและการแก้ไขได้


          ทีนี้  รูปแบบอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร  ทำไมจึงถือว่าการสร้างโบสถ์สร้างวิหารขึ้นในวัดวาอารามได้บุญมาก  การที่เราเกิดความเข้าใจขึ้นมาเช่นนี้เป็นเพราะอะไร  ขอให้นึกย้อนดูถึงสภาพสมัยเก่า  ในสมัยก่อนนี้  วัดวาอารามเป็นศูนย์กลางของชุมชน  เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตจิตใจของสังคม  การศึกษาเล่าเรียนและกิจกรรมต่างๆ  ของชุมชนก็มีขึ้นที่วัดวาอาราม  สิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามนั้น  ก็เป็นสมบัติส่วนรวม  ไม่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น  สร้างขึ้นมาแล้วก็เป็นของกลาง  เช่น  กุฏิหลังหนึ่่ง  สร้างขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้เป็นของใครทั้งนั้น  ทุกคนในชุมชนนั้นสามารถจะไปบวชและไปใช้กุฏิหลังนั้นอยู่  เมื่อตัวเองสึกแล้วก็มีคนอื่นหมุนเวียนกันใช้ต่อไป  หรือว่าถ้าตัวเองไม่ได้ใช้  ลูกหลานของตนก็ใช้ได้  ไม่เป็นสมบัติของใครโดยเฉพาะ


          หรืออย่างศาลาการเปรียญ  ภิกษุสงฆ์ก็ได้ใช้เป็นสถานที่เล่าเรียน  จะเป็นลูกเป็นหลานใคร  หรือตัวบุคคลผู้นั้นเองก็ไม่จำเป็นตั้งระบุลงไป  ส่วนชาวบ้านก็จะใช้เป็นที่ชุมนุมในกิจกรรมต่างๆ  เช่น  การฟังธรรม  ตลอดถึงการบำเพ็ญกุศล  และการชุมนุมอื่นๆ  วัดและสิ่งก่อสร้างในวัดจึงเป็นศูนย์กลางและเป็นสมบัติของชุมชน  เพราะฉะนั้น  เมื่อคิดว่าจะสร้างอะไรในชุมชนนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม  จะมีอะไรดีไปกว่าการสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นในวัดวาอาราม  การสร้างกุฏิหลังหนึ่งก็คือ  การสร้างสาธารณประโยชน์ให้คนที่อยู่ในชุมชนนั้น  ได้เข้ามาใช้ประโยชน์โดยเป็นตัวเองบ้าง  ลูกหลานตัวเองบ้าง  เป็นสมบัติของคนในสังคมนั้น  สร้างศาลาขึ้นมาก็เป็นสิ่งทีใช้ประโยชน์ร่วมกันของสังคมนั้นทั้งหมด


          ฉะนั้น  ความหมายที่ว่า  เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  จึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องระบุ  เป็นความหมายที่เข้าใจกันอยู่ในตัวโดยไม่ต้องยกขึ้นมาพูดถึงอีก  ไม่ต้องยกขึ้นมาตั้งเป็นคำถามด้วยซ้ำไป  ความเข้าใจในเรื่องบุญจึงถ่ายทอดมาในรูปแบบที่ว่า  สร้างสิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามถือว่าได้บุญมาก  อาจจะถือเป็นอุดมคติว่า  ช่วยให้ได้ไปเกิดในสวรรค์  หรืออะไรก็ตามแต่  ความหมายนั้นพ่วงไปในตัวเสร็จในแง่ที่ว่า  เป็นสาธารณประโยชน์  แต่ในสมัยต่อมาเมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนไป  สังคมของวัดวาอารามและสังคมภายนอกแยกออกจากกัน  บทบาทที่วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมในแง่ต่างๆ  ก็ลดน้อยลงไปตามลำดับ  เมื่อบทบาทลดน้อยลงไปเช่นนี้แล้ว  ก็เกิดความวิปริตขึ้นมา  ความคิดความเข้าใจก็แบ่งแยกออกเป็น ๒ ด้าน  ฝ่ายหนึ่งก็เกิดความยึดมั่นโดยนำเอาความหมายในแง่ที่ว่า  ทำบุญ  คือ  สร้างสิ่งก่อสร้างภายในวัดแล้วจะได้บุญมาก  ไปสัมพันธ์ผูกไว้กับความหมายที่ไกลตัว  ไกลชีวิตออกไปทุกที  เพราะความหมายและคุณค่าที่เกี่ยวกับสังคมและชีวิตปัจจุบันนั้น  มันชักจะหลุดลอยออกไป  เหลือแต่ความหมายที่ผูกพันกับชาติหน้าหรือสวรรค์  จากนั้นการพูดหรือการโฆษณาในแง่นั้นก็ยิ่งทวีและเน้นมากขึ้นตามลำดับ  ส่วนคนอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถเข้าใจความหมายในแง่นี้ได้  จึงแยกตัวออกไปตั้งข้อกล่าวหาว่า  การทำบุญเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ส่วนรวม  เป็นการถ่วงสังคม  เป็นต้น  ถ้าหากไม่สามารถนำความเข้าใจนั้นมาสู่จุดเริ่มต้น  หาจุดที่จะเชื่อมต่อได้แล้ว  การแก้ปัญหาจะเป็นไปได้ยาก




เนื้อหาและรูปแบบของ  'สมาธิ'
          ขอยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่ง  คือเรื่อง  'สมาธิ'  สมาธิก็มีทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบ  พอพูดถึงคำว่าสมาธิ  โดยมากคนก็นึกถึงรูปแบบของการที่ไปนั่งเงียบๆ  หลับตาอะไรทำนองนั้น  แต่ความหมายของสมาธิตัวจริงของมันในแง่ของเนื้อหาสาระ  ก็คือ  ความตั้งมั่นแห่งจิตใจหรือมีจิตใจแน่วแน่มั่นคง  ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปของการนั่งเช่นนั้น  จริงอยู่  รูปแบบที่นั่งสมาธิเช่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  ซึ่งจะต้องนำไปพูดเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว  แต่รูปแบบที่สร้างขึ้นมานั้น  ก็กลับเป็นเครื่องจำกัดสาระและทำให้เกิดความไขว้เขวผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน  ความจริงสมาธินั้นมีได้แม้แต่ในเรื่องของชีวิตประจำวัน  เช่นตัวอย่างที่ยกมาแล้ว  ในเรื่องของเด็กที่ทิ้งถุงพลาสติกนั่นเอง  ในการปฏิบัติธรรมข้อทมะ  ก็ต้องมีการฝึกสมาธิอยู่ในตัว  หรือจะพูดให้กว้างกว่านั้นก็ได้ว่า  เด็กที่จะเอาห่อของไปทิ้งในที่ทิ้งขยะนั้น  เขาจะปฏิบัติพร้อมกัน  ทั้งศีล  สมาธิ  ปัญญา  เมื่อเด็กคิดว่าเขารับประทานของเสร็จแล้ว  จะทิ้งถุงพลาสติกหรือห่อของนั้น  เขามีสติระลึกขึ้นได้ว่าการทิ้งตรงที่ยืนนั้นเป็นการกระทำที่ผิด  ในกรณีนี้สติก็เป็นข้อหนึ่งในหมวดสมาธิ  การที่เขารู้ว่าการทิ้งเรื่อยเปื่อยไปโดยไม่ระมัดระวังเป็นความผิด  อันนี้คือเขารู้ศีล


          เมื่อเขารู้คือมีปัญญาพิจารณาเห็นคุณค่าและโทษของมันว่า  การกระทำที่ปล่อยไปตามความเห็นแก่ตน  เห็นแก่ความสะดวกสบายนี้ไม่ดีไม่งาม  เขาก็จะพยายามงดเว้นไม่ทำ  เมื่อเขาพยายามงดเว้นจากการกระทำผิด  คือเขาไม่ทิ้งในที่นั้นก็คือ  เขาปฏิบัติไปตามศีล  และเมื่อเขาระดมพลังจิตใจในการที่จะพยายามเอาชนะความเกียจคร้านของตนเอง  เดินไปสู่ที่จัดไว้นั้น  ก็เป็นการใช้พลังสมาธิ  และความเพียรพยายามเดินไป  ก็เป็นเรื่องของความเพียรซึ่งอยู่ในหมวดของสมาธิเช่นเดียวกัน  อันนี้เป็นเรื่องที่ใช้อยู่เป็นประจำ  เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระที่มีความหมายกว้าง  แต่เมื่อเราคิดเนื้อหาขึ้นมาในระยะหนึ่ง  แล้วรูปแบบก็จะก่อตัวขึ้นมาได้ตามลำดับ  จนถึงจุดที่ว่ารูปแบบนั้นแข็งทื่อจนยากแก่การปรับ  และทำให้เนื้อหาสาระคลาดเคลื่อนหรือคับแคบจนเกินไปด้วย  อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง


          ส่วนหลักธรรมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน  จะเป็นเรื่องสันโดษ  โลกียะ  โลกุตตระ  เรื่องวิปัสสนา  เป็นต้น  ก็จะมีความหมายในแง่เนื้อหาสาระและรูปแบบเช่นเดียวกัน  และความเข้าใจในรูปแบบนั้นก็จะทำให้เกิดความไขว้เขวในการเข้าใจเนื้อหาไปได้เป็นอย่างมาก  เหมือนอย่างที่อาตมาภาพได้พูดไปแล้วในวันนี้  อาตมาภาพคิดว่า  คงจะไม่มีเวลาแสดงหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของหลักพุทธธรรมให้ยาวอีกต่อไปเท่าไร  เพราะขณะนี้เวลาก็ใกล้จะหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น