วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม5/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต)
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา


ตอน 1. ความนำ
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
ตอน 2. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ
ตอน 3. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก
ตอน 4. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ
ตอน 5. ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที (หน้านี้)
ตอน 6. ธรรมที่คงตัวกับธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 

๔.  ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที


          ข้อที่ควรจะพูดถึงต่อจากเรื่องที่แล้วคือ  การเข้าถึงกับการวางท่าที  อันนี้จะพูดให้สั้นที่สุด  ความสับสนในการเข้าถึงกับการวางท่าทีนี้  เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สับสนมากในเรื่องของศาสนา  และก็มีความสับสนในการดำรงชีวิตด้วย  ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา  เช่น  นรก  สวรรค์  คำถามเกี่ยวกับเทพเจ้า  เรื่องเกี่ยวกับโลกนี้ว่า  มีที่สิ้นสุดไม่มีที่สิ้นสุด  ที่เราเรียกว่าปัญหาทางอภิปรัชญา  ตลอดไปกระทั่งถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อภินิหาร  ปาฏิหาริย์  ต่างๆ เหล่านี้พวกหนึ่ง  กับเรื่องข้อปฏิบัติต่างๆ  เหล่านี้  อีกพวกหนึ่ง  เราจะต้องมีหลักการวางตัวต่อมัน  คือ  พวกหนึ่งเป็นสิ่งที่เราพึงเผชิญด้วยความพยายามเข้าถึง  อีกพวกหนึ่ง  พึงเผชิญด้วยความตระหนักในการวางท่าที  ถ้าเราไม่สามารถแยก  ๒  อย่างนี้ออกจากกันแล้ว  จะเกิดโทษและเกิดความสับสนในการปฏิบัติและความเข้าใจเป็นอย่างมาก


          สำหรับพระพุทธศาสนานั้น  วางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน  จะขอลัดให้สั้นว่า  สำหรับธรรมะทั่วๆ ไปนั้น  ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติ  ธรรมะทั้งหลายอุปมาเหมือนแพ  มีไว้สำหรับใช้ข้ามฟาก  ทีนี้  ในเรื่องบางอย่าง  เอาง่ายๆ  เช่น  เรื่องศักดิ์สิทธิ์  อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  เราควรจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร  พระพุทธศาสนานั้นวางหลักไว้ชัดเจนแล้วว่า  สำหรับสิ่งเหล่านี้ให้ใช้วิธีวางท่าที  การวางท่าทีเป็นอย่างไร  เรื่องบางอย่าง  เช่น  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  อิทธิปาฏิหาริย์  อะไรเหล่านี้  เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะพิสูจน์ออกมาได้ให้เห็นชัดเจน  ทั้งในแง่การยอมรับ  และปฏิเสธโดยสิ้นเชิง  สิ่งเหล่านี้มีโอกาสให้คลุมเครืออยู่ตลอดไป  หรือเป็นสิ่งลับๆ ล่อๆ  ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้โดยสิ้นเชิง และฝ่ายที่ยืนยันก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงให้อีกฝ่ายยอมรับได้แน่นอนเช่นเดียวกัน  คือ  ทั้งสองฝ่ายจะเอาชนะกันเด็ดขาดไม่ได้ 


          ในเมื่อเป็นเช่นนี้  พระพุทธศาสนาให้ใช้วิธีวางท่าที  การวางท่าทีเช่นนี้  ไม่ใช่เรื่องลอยๆ  เป็นการทำอย่างมีเหตุผลชัดเจนที่สุด  วางท่าทีอย่างไร  เรามองเห็นด้วยเหตุผลทันทีว่า  การเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ นั้น  ขัดต่อหลักการพึ่งตนเอง  ทำให้เรามัวแต่พึ่งพาอาศัย  คอยหวังพึ่งอำนาจจากภายนอก  ทำให้หวังผลสนองในทางลัด  เช่น  เราหวังผลสำเร็จในกิจบางอย่าง  ถ้าเราไปหวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์แล้ว  เราก็อาจจะต้องนั่งนอนรอเพื่อให้สิ่งนั้นบันดาลผลขึ้นมา  ทำให้เราขาดความเพียรพยายามในการที่จะลงมือปฏิบัติ  โดยทางเหตุผลที่มองเห็นประจักษ์แก่ตนเอง


          ในทางหลักธรรมนั้นให้พึ่งตนเอง  ประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นเหตุเป็นผลในสิ่งที่มองเห็น  พยายามให้เป็นผลสำเร็จขึ้นมาด้วยการกระทำของตนตามสามัญวิสัยหรือความเพียรของมนุษย์  การมัวเชื่อคอยหวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อิทธิปาฏิหาริย์  ย่อมทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ  และก็ทำให้เรามีจิตใจหวังพึ่งผู้อื่นอยู่เรื่อยไป  เป็นผลเสียในการปฏิบัติธรรม


          เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงควรคิดตัดสินใจอย่างเด็ดขาดลงไปว่า  เมื่อจะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาแล้ว  ก็ต้องถือหลักของการปฏิบัติด้วยการลงมือกระทำ  โดยความพากเพียรพยายาม  ไม่ใช่มัวไปหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อิทธิปาฏิหาริย์  ไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นจริง  แม้เป็นจริงก็ไม่อยากพึ่ง  ต้องเป็นอย่างนี้  นี่คือท่าทีของพระพุทธศาสนา  เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้า  แม้จะมีคำสอนบันทึกไว้ว่า  ทรงเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นอย่างยิ่ง  ทำได้อย่างนั้นอย่างนี้  แต่พระองค์ก็ทรงติเตียนอิทธิปาฏิหาริย์  และทรงปรับอาบัติแก่พระภิกษุที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย  เพราะเป็นการชักนำให้ประชาชนเกิดความไขว้เขว  ไม่ทำให้เขาเพียรพยายามทำในสิ่งที่ควรทำให้สำเร็จด้วยเรี่ยวแรงของตนเอง  จุดหมายที่สูงนั้นจะบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรของตนเอง  หาสำเร็จด้วยการพึ่งสิ่งที่อยู่ภายนอกไม่  


          เพราะฉะนั้น  สิ่งเหล่านี้แม้สมมติหรือเป็นจริง  ก็เฉออกไปนอกทางของความเพียรพยายาม  จึงให้วางท่าทีลงไปว่าไม่ควรจะหวังพึ่ง  พระพุทธเจ้าทรงติเตียนอิทธิปาฏิหาริย์ไว้  ไม่ทรงสรรเสริญ  ทรงสอนว่า  อนุสาสนีปาฏิหาริย์  คือ  การสั่่งสอนให้เห็นจริงเห็นจังด้วยปัญญา  จนนำไปปฏิบัติได้เอง  เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่า  ดังนี้เป็นต้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น