วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม6/8

หนังสือ เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต)
หนังสือตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี2540 โดย ธรรมสภา


ตอน 1. ความนำ
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
ตอน 2. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ
ตอน 3. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก
ตอน 4. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ
ตอน 5. ธรรมในแง่การเข้าถึงกับการวางท่าที
ตอน 6. ธรรมที่คงตัวกับธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้ (หน้านี้)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 

๕.  ธรรมที่คงตัวและธรรมที่ปรับได้


           ตอนนี้มีอีก  ๒  ข้อที่เป็นข้อสั้นๆ  คือ  ธรรมะที่คงตัวกับธรรมะที่ปรับได้  ธรรมะที่คงตัว  หมายถึง  หลักธรรมประเภทที่แสดงหลักความจริงอันแน่นอนตายตัว  หรือใช้ได้ตลอดทุกาลทุกสมัย  ธรรมที่ปรับได้หมายถึง  หลักธรรมที่พึงปรับหรือนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม  สองอย่างนี้ถ้าไม่รู้จักแยกก็เกิดความไขว้เขวได้มาก  เช่น  มีผู้พูดว่า  พระพุทธศาสนาตั้งนานมาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว  ตอนนี้ควรจะปรับปรุงแก้ไขหรืออะไรทำนองนี้  อันนี้ก็เป็นเพราะไม่เข้าใจระหว่างธรรมะที่คงตัวกับธรรมะที่ปรับได้  


          ธรรมะที่คงตัวนั้น  มีทั้งในแง่สัจธรรมและในแง่จริยธรรม  ในแง่ของสัจธรรมก็คือ  หลักที่แสดงสภาวะของสิ่งทั้งหลาย  อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม  สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้นๆ  เช่น  หลักไตรลักษณ์ว่า  สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่  มีความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  และไม่มีตัวตนของมันเอง  และหลักปฏิจจสมุปบาทที่แสดงความเป็นไปตามเหตุปัจจัย  เป็นต้น  พวกนี้เรียกว่าธรรมะที่คงตัว  ในแง่จริยธรรมก็ได้แก่  หลักจริยธรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์โดยตรง  ตราบใดที่คนยังเป็นคน  หลักจริยธรรมสำหรับความเป็นคนก็ยังคงตัว  คนนั้นไม่เหมือนกัน  คือเป็นคนเหมือนกัน  แต่ไม่เหมือนกัน  ในกรณีที่เป็นคนไม่เหมือนกัน  หรือเป็นคนแต่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน  ก็มีธรรมะที่ปรับได้สำหรับแต่ละคน  และธรรมะสำหรับให้คนไปเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมสถานการณ์ต่างๆ  ที่ไม่เหมือนกัน  อันนี้ก็เป็นธรรมะที่ถูกปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมสถานการณ์นั้นๆ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น